วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ปรัสเซีย ตอนที่ 1 ภาพรวมทางประวัติศาสตร์

ดินแดนสีฟ้า-เขียว-ชมพู-เหลือง-เทา คือดินแดนปรัสเซียนะครับ



ดินแดนปรัสเซียนั้นตั้งอยู่ในเขตทะเลบอลติกทางฝั่งใต้ ตั้งแต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ ไปจนถึงชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศลัตเวียในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงเมืองคาลินินกราด Kaliningrad ซึ่งเป็นดินแดนแห่งเดียวของรัสเซียในเขตสหภาพยุโรปเข้าไปด้วย จึงนับได้ว่าเป็นเขตการค้าสำคัญในยุโรปภาคตะวันออก และยังเป็นที่ตั้งของปากน้ำ "วิสตุลา" แม่น้ำสายสำคัญทางภูมิภาคชายฝั่งบอลติคนี้อีกด้วย

ในสมัยต้นยุคจักรวรรดิโรมัน ดินแดนแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของเผ่ากอธซึ่งเป็นพวกเยอรมานิคสายหนึ่ง จนมาถึงในตอนกลางของคริสตศตวรรษที่ 3 พวกกอธก็ได้เริ่มอพยพลงสู่ใต้ โดยแยกกันออกเป็น 2 สาย สายหนึ่งได้เขาไปตั้งถิ่นฐานในรัสเซียภาคใต้ทางแหลมไครเมียร์หรือเขตของพวกซาร์มันเทียนเก่า โดยเราเรียกพวกนี้ว่าออสโตรกอธ (Ostrogoth) อีกสายหนึ่งอพยพเข้าสู่เขตดาเซียหรือส่วนใหญ่ของประเทศโรมาเนียทางใต้ของเทือกเขาคาร์เพเทียนปัจจุบัน โดยสายนี้เรียกกันว่าวิสิธกอต (Visigoth) ซึ่งทั้ง 2 พวกนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในปลายยุคโรมันไปจนถึงยุคมิดตอนต้นอีกด้วยครับ

และเพราะการอพยพของชนกอธนั่นเอง ทำให้ชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของดินแดนปรัสเซียเข้าครอบครองดินแดนปรัสเซียทั้งหมดโดยเรียกชนกลุ่มนี้ว่าพวกปรัสเซียเก่า (Old Prussian) ซึ่งชนกลุ่มนี้ได้เข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้เป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีต่อมา

จนมาถึงช่วงสงครามครูเสดหรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ ที่โลกคาทอลิกพยายามกู้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์คือเมืองเยรูซาเร็ม (Jerusalem)กลับมา ทำให้เกิดภาคีอัศวินขึ้นหลายแห่ง เช่น อัศวินเทมพลาร์ อัศวินฮอสพิทัลเลอร์ และอัศวินทิวโทนิค ซึ่งอัศวินกลุ่มสุดท้ายคืออัศวินทิวโทนิคนี่เองที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนปรัสเซียในเวลาต่อมา

อัศวินทิวโทนิคเมื่อเข้าไปรบในสงครามครูเสดเหนือหรือ Baltic crusade



อัศวินทิวโทนิค (Teutonic order) มีชื่อเต็มว่า ภาคีแห่งภราดรเยอรมันแห่งเซนต์แมรี่ในเยรูซาเล็ม หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า Order of Brothers of the German House of Saint Mary in Jerusalem แต่เดิมเคยปกครองเมืองเอเคอร์ในเขตตะวันออกกลาง จนกระทั่งถูกพวกมุสลิมยึดกลับคืนไปก่อนสงครามครูเสดครั้งที่ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้อัศวินทิวโทนิคต้องโยกย้ายกลับสู่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแผ่นดินแม่ ก่อนที่จะไปช่วยปกป้องราชอาณาจักรฮังการีจากการรุกรานของมุสลิมแห่งอาณาจักรข่านคิพซัค (Cuman Khanate) ตั้งแต่ปี 1211

แต่ต่อมาอัศวินทิวโทนิคก็ถูกขับไล่ออกจากฮังการีในปี 1225 เนื่องจากแสดงความจงรักภักดีต่อพระสันตะปาปามากกว่าพระเจ้าแผ่นดินฮังการี พวกเขาจึงต้องกลับเข้าสู่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่ว่า 5 ปีให้หลังพวกเขาก็ได้เริ่มขยายอำนาจของตัวเองอีกครั้งภายใต้การนำของแกรนด์มาสเตอร์ Hermann Von Salza โดยในครั้งนี้พวกเขาจะเขาจะเข้าสู่การเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดินแดนปรัสเซียกันแล้วครับ

อัศวินทิวโทนิคนั้น ถึงแม้จะมีฐานะเทียบเท่ากับภาคีอัศวินอื่นๆ แต่พวกเขากลับมีวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างกับภาคีอื่นๆโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ใช่ต้องการแค่ดินแดนศักดิืสิทธิ์เท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการให้ใครก็ตามที่นับถือศาสนาอื่นอยู่หันมาเข้ารีตเป็นคาทอลิกให้หมดอีกด้วย ทำให้เมื่อภาคีแห่งนี้ไปที่ไหนหากมีใครไม่ยอมเข้ารีตแล้วแล้วล่ะก็ ภาคีอัศวินแห่งนี้จะไม่ละเว้นชีวิตใครเลย ทำให้นับเป็นภาคีอัศวินทางศาสนาที่มีวิธีการรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปเลยล่ะครับ

แกรนด์มาสเตอร์เฮอร์มาน ฟอน ซอลซา ผู้นำอัศวินเข้ารบในสงครามครูเสดเหนือ


หลังจากพวกเขาถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดินฮังการีแล้ว พวกเขาได้เข้ารุกรานดินแดนปรัสเซียโดยการสนับสนุนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และอาณาจักรมาโซเวียทางโปแลนด์เหนือ ซึ่งเพราะพวก Old Prussian นั้นยังคงเป็นพวกนับถือวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิมที่เรียกกันว่าเพเกิน(Pagan)อยู่ โดยพวกนี้ได้คอยรบกวนชายแดนทั้ง 2 อาณาจักรอยู่เสมอ และในการรุกรานครั้งนี้เอง ทำให้อัศวินทิวโทนิคเข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของปรัสเซียได้สำเร็จในปี 1230 และเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสงครามบอลติคเหนือซึ่งทำให้อัศวินทิวโทนิคมีอำนาจเพิ่มขึ้นตลอดคริสศตวรรษที่ 13 เลยทีเดียว ถามว่าไม่มีใครระแวงอำนาจของพวกเขาเลยเหรอ คำตอบคือมีครับทั้งโปแลนด์และลิธัวเนียซึ่งมีอำนาจอยู่ทางใต้นั่นแหละ (ใน 2 อาณาจักรนี้ก็ยังมีพวกนับถือวิญญาณเยอะเช่นกัน) แต่ทว่าตอนนั้นจักรพรรดิองค์ปัจจุบันคือเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้ให้การสนับสนุนภาคีอัศวินทิวโทนิคอย่างเต็มที่ โดยการตั้งเฮอร์มาน ฟอน ซอลซาเองเป็นเจ้าชายในคุ้มครองของจักรวรรดิด้วย ก็ทำให้ทั้ง 2 มหาอำนาจกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกันครับ

หลังจากเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ แกรนด์มาสเตอร์รุ่นหลังๆได้เริ่มทำการโจมตีรัฐคริสเตียนด้วยกันตลอดช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 รวมถึงโจมตีราชอาณาจักรโปแลนด์ และอาณาจักรแกรนด์ดุ๊กแห่งลิธัวเนียซึ่งเป็นคาทอลิกด้วยกันเองอีกด้วย ทำให้ในที่สุดเมื่อมาถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 15 อัศวินทิวโทนิคก็ครอบครองดินแดนทางชายฝั่งบอลติกใต้ได้จนหมดและยังรวมถึงดินแดนเก่าของภาคีอัศวินลิโวเนียน ทำให้อัศวินทิวโทนิคมีอำนาจถึงจุดสูงสุดในช่วงเวลานั้นเอง


ดินแดนภายใต้การปกครองในช่วงรุ่งเรืองที่สุด มีดินแดนเป็นปกครองเป็นเอกเทศในชายฝั่งบอลติค


ในที่สุดเมื่อถึงปี 1410 ทั้งราชอาณาจักรโปแลนด์และอาณาจักรแกรนด์ดุ๊กลิธัวเนียก็รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านอำนาจของอัศวินทิวโทนิค และได้รับชัยชนะในยุทธการณ์กรุนวอลด์ (Battle of Grunwald) ทำให้อำนาจของอัศวินทิวโทนิคเสื่อมลงอย่างมาก และเมื่อโปแลนด์ลิธัวเนียรวมกันเป็นเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียแล้ว ก็สามารถรวมดินแดนของอัศวินทิวโทนิคทั้งหมดมาได้ และปกครองดินแดนแถบนั้นทั้ังหมด

ต่อมาราชรัฐบรานเดนเบอร์ก(Brandenburg) ซึ่งมีผู้ปกครองเป็นตระกูลโฮเฮนเซิลเลิน (Hohenzellerns) เป็นแคว้นเยอรมันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย และได้มีอำนาจปกครองดินแดนส่วนที่เหลือบางส่วนของปรัสเซียตั้งแต่ปี 1618 แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจของเครือจักรภพ จนถึงสงครามดินแดนเหนือครั้งที่ 2 (Second northern war หรือ Deluge war) ในปี 1655-1660 ราชรัฐบรานเดนเบิร์กเลือกที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายสวีเดนและรัสเซีย และประกาศศึกกับเครือจักรภพซึ่งเป็นนายเหนือของตนเอง แต่ก็ทำให้เมื่อจบสงครามราชรัฐบรานเดนเบิร์กได้รับเอกราชเป็นรัฐอิสระเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง และต่อมาก็ได้ค่อยๆขยายอำนาจจนเชื่อมเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองทางตะวันตกสุดของตน เข้ากับเมือง Ostpreussen หรือเมืองคาลินินกราดของรัสเซียในปัจจุบันได้สำเร็จ เนื่องจากการค่อยๆเสื่อมลงของอำนาจของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียตั้งแต่จบศึกครั้งนั้น

จนกระทั่งเมื่อถึงปีคริสตศักราช 1701 เฟรเดอริกที่ 3 เจ้าผู้ครองราชรัฐบรานเดนเบิร์กก็ได้ก่อตั้ง "ราชอาณาจักรปรัสเซีย" ขึ้น โดยรวมดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมันเข้ากับดินแดนปรัสเซียเข้าด้วยกัน และดำรงพระยศเป็น "กษัตริย์แห่งปรัสเซีย" พระองค์แรกในที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น