วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สงครามเหร็จเกิ๊ม-ส่วยมุ๊ท (ยุทธการ Rạch Gầm-Xoài Mút)

สมรภูมิเหร็จเกิ๊ม-ส่วยมุ๊ท กับความพ่ายแพ้ที่ถูกลืม

เนื่องจากว่าผมไปเจอกระทู้หนึ่งในกลุ่ม Thai gamer & History group ซึ่งได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ผมเห็นว่าเป็นกรณีที่น่าสนใจดีเลยลองหาข้อมูล แล้วนำมาแบ่งปันให้อ่านกันจ้า ^^

ในหลายๆครั้งนั้น ประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันแต่ถูกบันทึกโดยชาติที่เป็นคู่กรณีกันนั้น ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา และนี่เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุด โดยไม่ต้องดูจากที่ไหนไกลหรอกครับ ศึกที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ถูกนับเป็นหนึ่งในศึกที่สำคัญมากที่สุดของชาวเวียตนาม เพราะสามารถใช้กลอุบายขับไล่ "ผุ้รุกราน" ที่มีกำลังมากกว่าออกไปจากแผ่นดินได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทว่าในมุมมองที่ฝ่ายเราบันทึกนั้นกลับกลายเป็นศึกที่แทบไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรือมีความสำคัญใดๆ และกำลังค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำของชนชาติไทยเราในที่สุด เรื่องราวนั้นจะเป็นอย่างไร จะสำคัญขนาดไหนเชิญติดตามได้เลยครับ

ต้องขอเท้าความซักเล็กน้อยถึงภูมิหลังประวัติสาสตร์ขณะนั้นซักกันหน่อยนะขอรับ...คงต้องย้อนไปถึงเวียตนานตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาที่ปกครองโดยราชวงศ์เล้ (Le Dynasty) แต่อำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในอำนาจของสองตระกูลใหญ่นั่นก็คือตระกูลตรินห์ (Trinh Lord)ซึ่งมีอำนาจทางภาคเหนือและคอยบงการจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เล้เป็นหุ่นเชิด ส่วนทางตอนใต้ปกครองด้วยตระกูลเหงียน (Nguyen Lord) ซึ่งยังคงบอกว่ายังจงรักภักดีต่อราชวงศ์เล้อยู่ แต่ทว่าที่จริงก็มีอำนาจปกครองอย่างเต็มที่ ดดยทั้ง 2 ตระกูลต่างแก่งแย่งชิงดีกันตลอดเวลากว่า 200 ปีมาตลอดเลยล่ะครับ





ต่อมาเกิดกบฎที่เรียกกันว่าพวก "ไตเซิน" ขึ้นในเขตของตระกูลเหงียน ซึ่งต่อมากบฎไตเซินสามารถโค่นอำนาจของเจ้าตระกูลเหงียน (Nguyen Lord) ดั้งเดิมที่ครองอำนาจในเวียตนามตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำโขงมาตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 16 ได้สำเร็จในปี 1777 ทายาทของตระกูลเหงียนส่วนใหญ่ถูกสังหาร และทำให้สมาชิกในตระกูลที่เหลืออยู่ต้องอพยพลงมาตั้งหลักใหม่ในเขตปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ โดยใช้เมืองไซง่อนเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย

แต่ทว่าต่อมาพวกไตเซินก็รุกลงมาทางใต้อีกครั้งและสามารถเข้ายึดไซง่อนได้ ทำให้ทายาทคนหนึ่งของตระกูลเหงียนที่เรารู้จักกันในนาม "องเชียงสือ" หรือ "เหงียนแอ๋ง" (Nguyen Anh) ต้องหนีภัยลงมายังฮาเตียน (Ha tien) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของเวียตนาม และเขาคนนี้แหละครับที่ต่อมาจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้อาณาจักรรัตนโกสินทร์ของเราตัดสินใจผิดพลาดจนพบกับความอัปยศอย่างร้ายแรงในเวลาต่อมา

หลังจากเข้ายึดครองไซง่อนได้ไม่นานนัก ในปีเดียวกันนั่นเองทัพของพวกไตเซินก็ยกทัพกลับขึ้นเหนือเพื่อโจมตีที่มั่นของตระกูลตรินห์ (Trinh Lord) ซึ่งมีอิทธิพลทั่วทั้งภาคเหนืออยู่ในเวลานั้น ทำให้องเชียงสือตัดสินใจลอบกลับมาไซง่อนอีกครั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ยังจกรักภักดีต่อตนจำนวนมาก เมื่อประกอบกับได้แม่ทัพเรือที่มีความสามารถอย่างโดว่ถ่างเญิน (Đỗ Thanh Nhơn) ทำให้ในช่วงแรกองเชียงสือสามารถตั้งตนเองขึ้นเป็นเจ้าและรื้อฟื้นอำนาจของตระกูลได้สำเร็จในปี 1780 เพราะในตอนนี้ราชวงศ์เล้ซึ่งเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของตระกูลตรินห์ได้สิ้นอำนาจลงโดยสมบูรณ์จากการตั้งตนเป็นจักรพรรดิของพวกไตเซินในปี 1778 แล้วนั่นแหละครับ

แต่ถึงแม้ว่าการณ์จะเป็นเช่นนั้น ในที่สุดเมื่อแม่ทัพคนสำคัญคือโดว่ถ่างเญินเสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนาในปี 1781 พวกไตเซินก็กลับมารุกรานอย่างหนักอีกครั้ง ในคราวนี้องเชียงสือไม่สามารถจะต่อกรกับพวกไตเซินไหว ทำให้ในที่สุดหลังศึกที่ยืดเยื้อยาวนานมา 2 ปี อำนาจการปกครองของตระกูลเหงียนในเวียตนามก็สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ในปี 1783 โดยองเชียงสือจำต้องลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่แหละครับ

และด้วยในขนาดนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเองก็ต้องการที่จะขยายอำนาจทางการค้าของเราออกไปจากเขมรให้ไปถึงปากน้ำโขงอยู่แล้ว ก็ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยานครสวรรค์ยกทัพไปกู้เมืองให้องเชียงสือในกลางปี 1784 นั่นเอง

ต่อไปนี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลโดยละเอียดของฝั่งเวียตนามนะครับ...

กองทัพผสมระหว่างสยามเรา(ซึ่งก็คงเน้นไปที่ทัพเขมรล่ะนะ -*-)และองเชียงสือที่ได้ถูกคาดการณ์โดยฝั่งเวียตนามว่ามีกำลังพลรวมกันมากกว่า 50000 นาย ได้ล่องเรือเข้ามาผ่านทางเขมร โดยทัพ 20000 นายได้ยกพลขึ้นบกที่เกียนซาง (Kiên Giang) ส่วนอีก 30000 นายได้เข้ามาทางปากน้ำโขง และสามารถตีเมืองรายทางได้เรื่อยๆ ทำให้ดินแดนชายฝั่งของเวียตนามทางตอนใต้ตกเป็นของฝ่ายโจมตีเป็นจำนวนมากตลอดครึ่งปีของการรบ


ทัพของสยามได้ตีลึกเข้าไปเรื่อยๆในเขตเวียตนามตอนใต้และได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลซาเด็ก (Sa Dec) ทางตอนใต้ของลำน้ำหมีทอช่วงต้นปี 1785 ทำให้จักรพรรดิเหงียนหญัก (Nguyễn Nhac) แห่งไตซอนได้มีบัญชาให้พระมหาอุปราชคือองค์ชายเหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ) พระอนุชารองซึ่งจะครองราชย์ต่อมาในพระนามของจักรพรรดิ Quang Trung ผู้เกรียงไกรแห่งเวียตนามนั่นเอง เหงียนเหวะต้องยกทัพจากภาคเหนือลงมาด้วยตนเอง โดยได้นำทัพหลวงซึ่งมีกำลังเพียง 30000-40000 นายเท่านั้นมาเพื่อกู้สถานการณ์


จักรพรรดิเหงียนเหวะหรือจักรพรรดิ "Quang Trung"  (ครองราชย์ 1778-1792)

จักรพรรดิเหงียนเหวะทรงนำทัพไปตั้งอยู่ที่ด้านเหนือตำบลหมีทอ (My Tho) ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของลำน้ำ โดยได้แบ่งกองกำลังออกเป็นสองส่วนโดยส่วนหนึ่งให้อ้อมไปด้านหลังของกองทัพไทยอย่างลับๆโดยตั้งทัพอยู่ในคลองเล็กๆที่เชื่อมกับแม่น้ำหมีทอที่มีชื่อว่าคลองบักเคงิม (ไทยเราเรียกว่าคลองวงเจิม) ส่วนทัพส่วนใหญ่ให้ตั้งรออยู่ที่ตำบลหมีทอแห่งนั้นนั่นเอง และเหงียนเหวะยังได้จัดทัพเรือกองเล็กๆออกไปรบกับทัพของสยามเพื่อให้ตายใจอยู่เรื่อยๆ

นอกจากนั้นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทางฝ่ายเวียตนามได้บันทึกเอาไว้นั่นก็ฝ่ายไตเซินได้วางแนวของปืนใหญ่แอบซุ่มไว้ตามลำน้ำหมีทอซึ่งทัพสยามจะต้องใช้เป็นทางผ่านเข้าสู่สมรภูมิแน่ๆ จึงนับว่าสามารถใช้ความชำนาญในพื้นที่ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆในด้านกลยุทธ์

ฝ่ายกองทัพสยามและองเชียงสือ ถูกแผนลวงเข้าในวันที่ 20 มกราคม ปี 1785 ในแต่ก่อนมานั้นฝ่ายไตเซินได้ส่งกองเรือมารบกับทัพสยามโดยตลอดแต่ก็ได้แสร้งทำเป็นพ่ายแพ้ทุกๆครั้ง จนสุดท้ายฝ่ายไตเซินได้ส่งกองเรือขนาดเล็กมาโดยให้สัญญาณสงบศึก แต่ทว่าเนื่องด้วยฝ่ายไทยมั่นใจในความเกรียงไกรของทัพตนเองมากเกินไปเนื่องมาจากการรบชนะต่อเนื่องมาตลอดนั้น ทำให้กองทัพไทยส่วนใหย๋มุ่งถลำเข้าไปกลางลำน้ำโดยไม่ได้ระแวงว่าจะเป็นแผนลวงเลย

เมื่อทัพของสยามแล่นเข้ามากลางลำน้ำโดยไม่ทันระวังตนเอง ทัพเรือของพวกไตซอนก็ยกออกมาปิดล้อมทั้งทางด้านหน้าโดยกองทัพหลวงของจักรพรรดิเหงียนเหวะเอง และด้านหลังซึ่งก็คือกองซุ่มที่ได้เข้าไปตั้งทัพในคลองบักเคงิม พร้อมกับการเปิดฉากยิงปืนใหญ่ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า Hỏa Hổ Thần Công ซึ่งเป็นปืนใหญ่ที่สามารถยิงกระสุนที่ติดไฟง่ายอย่างมาก จนเมื่อยิงไปที่เรือซึ่งเป็นไม้อยู่แล้วก็ดูคล้ายกับเป็นปืนใหญ่ที่ยิงเปลวไฟได้อย่างใดอย่างนั้น

โดยขณะเดียวกันปืนใหญ่ต่างระดมยิงจากทั้ง 2 ฟากฝั่งของแม่น้ำ กองเรือจำนวนกว่า 300 ลำของฝ่ายเราถูกไฟไหม้กลางลำน้ำอย่างรวดเร็ว กองทัพสยามซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีที่รุนแรงโดยไม่ทันตั้งตัวแบบนี้จึงต้องพ่ายแพ้เสียทีจนถึงกับแทบจะสิ้นทัพกันหมดเลยทีเดียว

ก็แหม ลองคิดภาพหากเราเป็นกองทัพเรือสยามที่บุกไปมั่นใจเต็มร้อยว่าต้องชนะแบบง่ายๆชัวร์ แล้วอยู่ดีๆทัพศัตรูก็โผล่มาดักหน้าดักหลังได้ยังไงก็ไม่รู้ พร้อมกับปืนใหญ่ที่เปิดฉากยิงทีไฟท่วมเรือกันเป็นแถบๆสิครับ ใครมันจะอยากไปรบต่อล่ะครับท่านผู้อ่าน หลังจากที่ทัพของเราส่วนใหญ่แหลกเละไปกลางแม่น้ำเสียอย่างนั้น ภาพต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องคิดให้ยากหรอกครับ ทัพของพวกไตเซินก็สามารถเข้าทำลายแนวหลังที่เหลือของเราโดยสะดวกโยธินนั่นแล

โดยทัพที่เหลืออยู่ประมาณ 3000 กว่านายซึ่งสามารถหลบหนีขึ้นฝั่งและฝ่าวงล้อมของพวกไตเซินออกมาได้ก็ยังสามารถหลบหนีกลับสยามได้สำเร็จโดยเดินทางผ่านเขมรกลับมาโดยสวัสดิภาพซึ่งก็รวมถึงกรมหลวงเทพหริรักษ์แม่ทัพใหญ่ในคราวนั้นก็ตีฝ่าออกมาได้ด้วย

ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นนับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพสยามในยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว แต่ทว่าในด้านเรานั้นกลับมีบันทึกเพียงว่า "ปีมะโรงศักราช 1146 จึงตรัสให้จัดกองทัพเรือให้พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพกำกับองเชียงสือไปด้วย ให้พระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า ยกออกไปตีเมืองญวน เข้าทางปากน้ำเมืองนำก๊ก ตีทัพพวกไกเซินแตกขึ้นไปจนถึงคลองว่ำน่าว ฝ่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าคิดมิชอบเป็นใจพวกญวน จึงมีตราให้หาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ ให้ประหารชีวิตเสีย ส่วนกองทัพไทยที่ตั้งอยู่คลองว่ำน่าวนั้น พวกญวนตัดหลังมาทางคลองวงเจิงเป็นทัพกระหนาบ กองทัพเรือไทยเห็นพวกญวนปิดไว้ทั้งต้นคลองปลายคลอง กลัวจะออกไม่ได้ ทั้งขัดเสบียงอาหารลงด้วยก็ทิ้งเรือใบเรือไล่เสีย ขึ้นบนหนีมาทางเขมร" ซึงกล่าวถึงเพียงรายละเอียดของศึกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังบอกว่าสาเหตุที่ต้องถอยทัพเป็นเพราะแม่ทัพทรยศและ "ขาดเสบียงตอนอยู่กลางแม่น้ำ" อีกต่างหาก เอากับเขาสิครับ -*-

ในขณะที่เวียตนามนั้น ศึกนี้นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ชาวเวียตนามภาคภูมิใจอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติตน จนถึงกับมีการสร้างอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการกัน แต่ในบ้านเรานั้นกลับเมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและคงจะถูกลืมไปได้ในไม่ช้านี้...

มันแน่นอนครับ คงไม่มีใครอยากจะจดจำความอัปยศในอดีตของชาติตนนัก ชาติไทยเราเองก็คงไม่ต่างจากพม่าที่ก็คงไม่อยากจำเรื่องของยุคพระนเรศวรเท่าไรเช่นกัน แต่ทว่าจะอย่างไรเสียสิ่งที่เคยเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นรากฐานให้เราได้มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ มันคงไม่เสียหายอะไรหรอกครับหากเราจะมาย้อนมองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตร่วมกับชาติอื่นๆ...ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและทัศนะที่แตกต่าง แล้วก้าวไปในอนาคตที่ดีกว่าด้วยกันในยุคแห่งประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงนะครับ ^^



อนุสาวรีย์ของศึกนี้ที่จังหวัด Giang ziang ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น