วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ปรัสเซีย ตอนที่ 2 ความล่มสลายของอัศวินทิวโทนิค และสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย

อย่างที่เคยกล่าวไว้ หลังจากที่อัศวินทิวโทนิคพ่ายแพ้ให้แก่กองกำลังผสมของโปแลนด์-ลิธัวเนียในยุทธการณ์กรุนวอลด์ปี 1410 อำนาจของอัศวินทิวโทนิคก็เสื่อมลงอย่างมาก เพราะต้องเสียอำนาจการปกครองในดินแดนทางชายฝั่งด้านเหนือคือแถบลัตเวียและเอสโตเนียไปจนหมด ทำให้มีอาณาเขตเหลือเพียงจากปากน้ำเมเมล (Memel) ในลิธัวเนียปัจจุบัน เรื่อยมาจนถึงดินแดนที่อยู่ติดกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น


ดินแดนอิสระที่ยังเหลืออยู่หลังปี 1466 (สีเหลือง) ส่วนด้านซ้ายเสียให้โปแลนด์ 


และเมื่อมาถึงในปี 1454 ก็เกิดกบฎแบ่งแยกดินแดนขึ้นในเขตปรัสเซียตะวันตกทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำวิสตุลา โดยฝ่ายกบฎได้ขอความสนับสนุนจากโปแลนด์โดยให้สัญญากับกษัตริย์คาซิเมียร์ จากิลเลียน (กษัตริย์พระองค์แรกที่ครองบัลลังค์ทั้งโปแลนด์และลิธัวเนีย) ว่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์หากแบ่งแยกดินแดนครั้งนี้สำเร็จ

การรบครั้งนี้ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนานโดยมักจะเรียกกันว่า "สงคราม 13 ปี" ตั้งแต่ 1454 ถึง 1466 โดยในช่วงแรกอัศวินทิวโทนิคมีชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง ถึงแม้จะมีกำลังทหารน้อยกว่า แต่ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ทักษะของกองทัพ และการสนับสนุนด้านการเงินจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้สามารถต้านกำลังของโปแลนด์ได้ และประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะช่วงปี 1454-1455 จนทำให้ทัพโปแลนด์ต้องถอยทัพกลับไป แต่เมื่อมาถึงปี 1461 อัศวินทิวโทนิคก็ประสบปัญหาด้านการเงิน เนื่องมาจากศึกที่ยืดเยื้อยาวนานและไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าแต่ก่อน และเมื่อปี 1463 ทัพโปแลนด์ก็ได้กลับมาอีกครั้งและรบชนะเรื่อยมา จนทำให้เมื่อจบศึกในปี 1466 อาณาจักรของอัศวินทิวโทนิคก็ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. ดินแดนฝั่งตะวันตก คือที่ๆกบฎเกิดขึ้นนั้น ตกเป็นของโปแลนด์โดยในส่วนนี้มักเรียกกันว่า Royal Poland หรือ Polish Prussia

2. ดินแดนฝั่งตะวันออก (Ducal Prussia หรือ Duchy Prussia) ยังคงเป็นดินแดนของอัศวินทิวโทนิคอยู่เช่นเดิม



การลงนามสงบศึกในปี 1466 หรือที่เรียกว่า Peace of Torun


โดยเมื่อถึงปี 1525 ดินแดนฝั่งตะวันออกซึ่งยังเป็นของอัศวินทิวโทนิคอยู่นั้น มีแกรนด์มาสเตอร์คือ Albert แห่งตระกูลโฮเฮนเซิลเลิน โดยเขาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนคริสต์นิกายลูเธอร์ และเข้าสวามิภักดิ์เป็นขุนนางกับลุงของตนเอง ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์พระนามว่า "ซิกิสมุนด์ที่ 1" ทำให้สถานภาพของอาณาจักรอัศวินทิวโทนิคได้แปลสภาพจากดินแดนธรณีสงฆ์เป็นรัฐขุนนางระดับดัชชีแทน ในชื่อว่า "ดัชชีแห่งปรัสเซีย" และกลายเป็นขุนนางศักดินาของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียซึ่งเรืองอำนาจอยู่โดยรอบอาณาเขตไป



เครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย ก่อนได้ดินแดนของปรัสเซียตะวันออกทั้งหมดมาไว้ในครอบครอง
Albert von Hohenzollern (1510-1525) แกรนด์มาสเตอร์ผู้เปลี่ยนมาถือนิกายลูเธอร์ 
มาถึงรุ่นหลานของอัลเบิร์ตปรากฎว่าตำแหน่งดัชชีแห่งปรัสเซียว่างลง จึงทำให้ จอห์น ซิกิสมุนด์ (John Sigismund) ผู้เป็นเจ้าครอง แคว้นมาเกรฟแห่งบรานเดนเบิร์ก ได้อยู่ในอันดับ 1 ของสายการสืบทอดตำแหน่งเนื่องจากเป็นญาติในตระกูลเดียวกันคือ ฟอน โฮเฮนเซิลเลินนั่นเอง ทำให้เขาได้ขึ้นเป็นเจ้าดัชชีแห่งปรัสเซีย แต่ในการกลับกันมันก็ทำให้มาเกรฟแห่งบรานเดนเบิร์กตกเป็นขุนนางศักดินาของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียไปด้วย (ถึงแม้ว่าจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพแต่ก็มีอิสระในการปกครองตนเอง เนื่องจากยังนับเป็นอิเล็คเตอร์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่นะครับ จึงนับว่าถูกควบรวมแต่เพียงในนามเท่านั้น) เหตุการณ์นี้นับเป็นการเริ่มต้นของสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย (ช่วงที่ปรัสเซียปกครองโดยอิเล็คเตอร์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ตั้งแต่ปี 1618 เป็นต้นมา โดยมีผู้ปกครอง 3 คนก็คือ

1.อิเล็คเตอร์จอห์น ซิกิสมุนด์ (1618-1619) ในระยะ 2 ปีนี้คงไม่มีอะไรให้เล่านักนะครับ เรื่องราวสำคัญก็มีเพียงว่าในปี 1618 นั้นเองได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในยุโรปขึ้น เนื่องจากปัญหาทางศาสนาในดินแดนโบฮีเมียซึ่งเป็นรัฐโปรเตสแตนท์ ไม่ยอมรับอำนาจของออสเตรียซึ่งมีสิทธิ์ปกครองโดยชอบธรรมแต่เป็นคาทอลิก ทำให้ต่อมาจะขยายวงเป็น "สงคราม 30 ปี" ไปนั่นเอง อีกเรื่องสำคัญก็คือการที่อิเล็คเตอร์จอห์น ซิกิสมุนด์ตัดสินใจเปลี่ยนไปถือโปรเตสแตนท์อีกนิกายหนึ่งคือนิกายคาลวินแทน จากเดิมที่เคยเป็นนิกายลูเธอร์ 


จอห์น ซิกิสมุนด์ อิเล็คเตอร์บรานเดนเบิร์กคนแรกที่ได้รับตำแหน่งจเาดัชชีปรัสเซีย


การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ในอาณาจักรปรัสเซียในเวลาต่อมามีทั้งผู้ที่ถือนิกายลูเธอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามัญชน และนิกายคาลวินซึ่งมักประกอบด้วยชนชั้นสูงและเหล่าราชวงศ์ ทำให้บางครั้งก็เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปรัสเซียดำเนินนโยบายเป็นกลางและไม่บีบบังคับฝ่ายใดเกินไป รวมถึงเปิดเสรีภาพทางศาสนามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของยุโรปโดยตลอด 

แต่เท่านั้นยังไม่พอหรอกครับ เพราะต่อมามีการตัดสินใจรวมทั้ง 2 นิกายไว้ในแห่งเดียวกันอย่างเป็นทางการในอีก 200 ปีข้างหน้าอีกด้วย นับเป็นปรากฎการณ์ที่หาได้ยากยิ่งในยุโรปซึ่งมักมีปัญหาเรื่องศาสนากันตลอด ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็รอติดตามหน่อยนะครับ ^_^

2. อิเล็คเตอร์จอร์จ วิลเลี่ยม (1619-1640) ในช่วงต้นรัชกาลนี้ทุกๆอย่างค่อนข้างสงบ อิเล็คเตอร์จอร์จได้ดำเนินนโยบายต่างๆตามปกติมาตลอด และพยายามเป็นกลางในสงคราม 30 ปีมาตลอด จึงสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของเหล่าประชาชนมาได้ถึง 11 ปีเต็ม แต่ก็มาเกิดปัญหา เมื่อสวีเดนตัดสินใจเข้าร่วมสงครามเพื่อช่วยโบฮีเมียและฝ่ายโปรเตสแตนท์ทั้งหมดรบกับฝ่ายคาทอลิกซึ่งมีออสเตรีย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิืสิทธิ์เป็นหัวหน้าในปี 1630 นั่นเองครับ


George William เจ้าสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย ผู้สูญเสียอำนาจการบริหารในปลายรัชสมัย


งานนี้อิเล็คเตอร์จอร์จของเราตกที่นั่งลำบากจริงๆ ใจหนึ่งก็อยากอยู่ข้างออสเตรียซึ่งเป็นจักรพรรดิของตัวเอง แต่ก็ดันถือคริสต์คนละนิกาย แถมน้องสาวของตัวเอง Maria Eleonora ก็ดันไปแต่งงานกับพระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟุสแห่งสวีเดนไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยตัวเองนี่แหละเป็นผู้สนับสนุนหลักอีก งานนี้ขืนเข้าร่วมกับออสเตรีย น้องสาวก็จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ส่วนอีกใจหนึ่งก็อยากจะเข้าร่วมกับสวีเดนที่ถือโปรเตสแตนท์เหมือนกัน แต่จะเข้าร่วมกับสวีเดนก็เกรงใจจักรพรรดิซึ่งเป็นนายเหนือโดยตรง บวกในสภาขุนนางก็ยังมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายนิยมจักรพรรดิและฝ่ายนิยมโปรเตสแตนท์จนเกิดการปะทะทางคารมย์อย่างหนัก สรุปสุดท้ายแกเลยเลือก "เป็นกลาง" แทนเสียเลย

แต่ทว่าเมื่อ "พี่เขยแท้ๆ" อย่างพระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟุส (Gustavus Adolphus) ได้ส่งทหารเข้ามาฮึ่มๆถึงดินแดน Pommerania (ดินแดนสีฟ้าๆติดทะเลในแผนที่ด้านล่างนั่นแหละครับ) ซึ่งเพิ่งเข้ายึดคืนมาจากฝ่ายออสเตรียได้ในปี 1631 และกรีธาทัพเข้ามาถึงชานกรุงเบอร์ลินและตั้งค่ายริมกำแพงเมืองเพื่อ "รอรับคำเชิญจากน้องเขยสุดที่รัก(?)" ถึงตอนนั่นเองก็ทำให้ในที่สุดอิเล็คเตอร์จอร์จของเราก็จำต้องยอมเป็น "ผู้สนับสนุน" กับฝ่ายโปรเตสแตนท์ในที่สุด


พระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟุส พี่เขยแท้ๆของอิเล็คเตอร์จอร์จ วิลเลี่ยม


และต่อมา ถึงแม้ว่าพระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟุสจะต้องพระแสงปืนบาดเจ็บจนสิ้นพระชนม์ลงในปี 1632 แต่ทว่าอิเล็คเตอร์จอร์จก็ยังคงแสดงตนเองเป็นมิตรต่อทัพสวีเดนเรื่อยมา ทั้งให้การสนับสนุนการเงินและเสบียงอาหาร รวมถึงให้ยืมปราสาท 2 หลังสำหรับเป็นที่พำนักทหารของพันธมิตรโปรเตสแตนท์ จนมาถึงในปี 1634 นั่นแหละครับ เมื่อกระแสสงครามเปลี่ยนไป ทัพพันธมิตรคาทอลิกสามารถเอาชนะทัพสวีเดนอย่างสวยงามในยุทธภูมินอรฺ์ดลิงเกน (Battle of Nordlingen) ทำให้อิเล็คเตอร์จอร์จตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายออสเตรียแทนในสัญญาสงบศึกแห่งปราก (Peace of Prague) 


งานนี้ทำให้เหล่าขุนนางที่สนับสนุนการเข้าร่วมกับสวีเดน เมื่อ 2 ปีก่อนโดนเด้งกันชุดใหญ่ และเปิดโอกาสให้เหล่าขุนนางที่สนับสนุนฝ่ายนิยมจักรพรรดิกลับมามีอำนาจอย่างใหญ่หลวง รวมถึงอิเล็คเตอร์จอร์จเองก็เผชิญกับแรงกดดันจากเหล่าขุนนางที่เป็นฝ่ายนิยมจักรพรรดิ เพราะการเข้าร่วมสงครามเมื่อ 5 ปีก่อนนั้น ส่งผลให้บรานเดนเบิร์กเผชิญกับหายนะในการกลายเป็นสนามรบของทั้ง 2 ฝ่าย จนเสียประชากรไปเกือบครึ่งประเทศแถมบ้านเมืองก็ถูกทำลายไปจำนวนมากอีก ทำให้ในที่สุดเมื่อมาถึงปี 1638 อิเล็คเตอร์จอร์จของเราเลยตัดสินใจลี้ภัยของความวุ่นวายทางการเมืองไปอยู่ในเขตดัชชีปรัสเซียใต้ความคุ้มครองของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียแทน


Adam Count of Schwarzenberg ขุนนางผู้เดียวในประวัติศาสตร์ปรัสเซียที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จแทนกษัตริย์ได้  

การกระทำเช่นนั้นทำให้ขุนนางหลักของฝ่ายนิยมจักรพรรดิคือ อดัมน์ เคาต์แห่งชวาสต์เซนเบิร์ก (Adam count of Schwarzenberg) ซึ่งเป็นขุนนางฝ่ายนิยมจักรพรรดิได้ขึ้นมามีอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการโดยพฤตินัยระหว่างปี 1638-1640 ไป เขาคนนี้ได้พยายามจ้างทหารรับจ้างแจกดินแดนเยอรมันอื่นๆมา แต่ทว่ากองทหารรับจ้างนั้นกลับกระทำการตามอำเภอใจโดยเขาควบคุมไม่ได้ ทั้งเข้าปล้นบ้านเรือนราษฎรแถมยังทำการรบไม่เต็มที่อีก บวกกับเขาได้ทำการเพิ่มภาษีและลดอำนาจของเหล่าขุนนางที่ดินลงเพื่อจะขับไล่สวีเดนออกไปจากดินแดนเยอรมันให้ได้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเขาอย่างรุนแรงในปี 1640 ขุนนางส่วนใหญ่มองว่าเขาต้องการความดีความชอบจากออสเตรีย โดยไม่สนใจถึงความเดือดร้อนของรัฐซึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่บอบช้ำอย่างมากและควบคุมกันไม่ได้ในขณะนั้น ซึ่งเผอิญเหตุการณ์ในตอนนี้ก็ตรงกับปีที่อิเล็คเตอร์จอร์จเสียชีวิตลงพอดี ทำให้ทายาทของเขาได้ขึ้นครองบัลลังค์ในชื่อ "อิเล็คเตอร์เฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 1" นั่นเอง



อิเล็คเตอร์เฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 1 หรือ The great Elector สงครามภูมิภาคเหนือครั้งที่ 2 กับอิสรภาพของปรัสเซีย

อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 1 แห่งสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย "The great Elector"


3.อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 1 (1640-1688) นับได้ว่าเป็นกษัตริย์นักการฑูตที่มีฝีมือเด่นที่สุดที่สุดในประวัติศาสตร์ปรัสเซียและยุโรปสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ ท่านเป็นผู้ที่วางรากฐานทำให้ปรัสเซียสามารถเป็นที่ยอมรับขึ้นสู่ความเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ในยุคต่อมา และยังสร้างวีรกรรมทางการทูตครั้งสำคัญในการประกาศอิสรภาพของสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียจากเครือจักรภพโแลนด์-ลิธัวเนียได้สำเร็จอีกด้วยครับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้เลยจ้า

อิเล็คเตอร์เฟรเดอริค วิลเฮล์ม เมื่อขึ้นครองบัลลังค์ได้ลดอำนาจของอดัมลงในทันที เขาได้ค่อยๆยกอำนาจการบริหารให้ไปอยู่กับขุนนางฝ่ายนิยมโปรเตสแตนท์ทีละนิด และพระองค์ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองไว้ได้โดยการปลดเหล่าทหารรับจ้างเจ้าปัญหาเหล่านั้นออก และก็ปลดเหล่าทหารชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์ขึ้นมาในสมัยการปกครองของอดัมกว่าหนึ่งหมื่นคนในทันที นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นประมุขคนแรกที่ได้ย้ายที่ทำการของรัฐบาลจากเดิมที่เบอร์ลิน(ซึ่งสภาพเละเทะเนื่องจากสงคราม)ไปไว้ที่เมืองพอตสดัม Potsdam จนทำให้กลายเป็นเมืองปริมณฑลที่สำคัญในเวลาต่อมา และพอมาถึงปี 1643 เมื่อบ้านเมืองเริ่มเข้าที่ใหม่แล้วพระองค์จึงค่อยจัดทัพขึ้นมาใหม่โดยฝึกให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมและเริ่มออกปฏิบัติการเพื่อปกป้องอาณาจักรอีกครั้ง ในปี 1644 จนสามารถประคับประคองตนเองผ่านสงคราม 30 ปี ที่จะจบลงในปี 1648 ไปได้ และพระองค์ก็ได้ใช้เวลาต่อจากนั้นมาอีก 7 ปีในการฟื้นฟูบ้านเมืองและเริ่มการพัฒนากองทหารอย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบรานเดนเบิร์กเลยครับ

การประกาศอิสรภาพจากโปแลนด์

เอาล่ะ...คราวนี้คงต้องมาดูสถานการณ์ด้านเครือจักภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย เจ้านายซึ่งมีสิทธิ์เหนือดินแดนครึ่งหนึ่ง(ดัชชีปรัสเซีย)ของสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียแห่งนี้กันบ้างนะครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

โดยนับตั้งแต่ปี 1651 เป็นต้นมา เครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย ได้ขัดแย้งอยู่กับอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียร์มาเรื่องประชากรชาวสลาฟในยูเครนโดยตลอด จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามซึ่งจะกินเวลาถึง 13 ขึ้นมา (Russo-Polish War 1654-1657) โดยในปี 1655 นั้น ฝ่ายรัสเซียในช่วงแรกได้สามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเบลารุสและชายแดนตะวันตกของเครือจักรภพทั้งหมด ทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 10 (Charles 10 Gustav) แห่งสวีเดนอาศัยโอกาสนั้นบุกเครือจักรภพด้วยเป็นเหตุแห่ง "สงครามภูมิภาคเหนือครั้งที่ 2 (Second northern war)"


พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งสวีเดน ผู้เริ่ม "สงครามภูมิภาคเหนือครั้งที่ 2"


เอาล่ะกลับมาที่บรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียกันต่อ...ตั้งแต่ปี 1618 เรื่อยมาจนก่อนได้รับอิสรภาพนั้น สหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียแห่งนี้ก็ปกครองโดยอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์โปแลนด์-ลิธัวเนียควบคู่กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์(ซึ่งควบคุมแต่ในนาม)มาตลอด โดยเฉพาะเขต Ducal Prussia หรือดัชชีแห่งปรัสเซียนั้นถือเป็นสมบัติของเครือจักรภพโดยตรง หลังการสวามิภักดิ์ของแกรนด์มาสเตอร์อัลเบิร์ตแห่งทิวโทนิคนั่นแหละครับ แต่เมื่อเกิด "สงครามเหนือครั้งที่ 2" ขึ้นระหว่างสวีเดนและเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย ในปี 1655-1660 นำไปสู่ความเป็นอิสระของปรัสเซียอีกครั้งภายใต้การดำเนินการทางการทูตอันแสนพลิกแพลงของอิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 1 แห่งบรานเดนเบิร์กหรือที่จะได้รู้จักกันในนามของ "Great Elector" นั่นเอง

โดยในช่วงแรกของสงคราม สวีเดนบุกยึดดินแดนแถบบอลติคตะวันออกมาถึงลิธัวเนียได้แทบทั้งหมดในเวลารวดเร็วเพียงไม่ถึงปี แต่ทว่าเมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งสวีเดนกลับใจดี(บวกกับอยากได้พันธมิตรอยู่แล้วอ่ะนะ) ทำให้เชื่อคำของอิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 1 ที่เสนอให้มาเป็นพันธมิตรกัน และได้ลงนามสนธิสัญญามาริเอนเบิร์ก (Treaty of Marienberg) โดยยินยอมให้ดินแดนของรัฐอิเล็คเตอร์บรานเดนเบิร์กเป็นรัฐอิสระโดยเป็นพันธมิตรกับสวีเดน ส่วนในดินแดนปรัสเซียก็เพียงอยู่ในการปกครองของสวีเดนเพียงแต่ในนาม และก็มีสิทธิปกครองดูแลตนเองภายใต้การดูแลของอิเล็คเตอร์เฟรเดอริคโดยตรงเหมือนสมัยอยู่กับเครือจักภพ ทำให้ระหว่างปี 1655-1657 บรานเดนเบิร์กได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายสวีเดนแทนนายเก่าแทน

ต่อมาเมื่อทัพปรัสเซียเข้าร่วมกับทัพสวีเดนรบชนะทัพเครือจักรภพจำนวนกว่า 40000 นาย ใช้กำลังพลเพียง 18000 นาย ในสมรภูมิแห่งวอร์ซอ (Battle of Warsaw 1656) นับว่ากองทัพบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียได้แสดงผลงานในการรบเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง ทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ทรงปลื้มพระทัยเป็นอันมาก แต่ทว่าในหลังจากนั้นไม่นาน รัสเซียก็กลับพักรบชั่วคราวกับเครือจักรภพระหว่างปี 1656-1658 และเปลี่ยนมาเข้าร่วมสงครามต่อต้านการขยายอำนาจของสวีเดนแทน ในส่งผลทำให้อิเล็คเตอร์เฟรเดอริกยื่นคำขาดต่อพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ให้ยกเขตดัชชีปรัสเซียขึ้นจากการอยู่ใต้อำนาจของสวีเดนไม่เช่นนั้นจะเลิกเป็นพันธมิตรด้วย ทำให้ในที่สุดพระเจ้าชาร์ลที่ 10 จำต้องลงนามในสนธิสัญญาลานิอู (Treaty of Labiau) มอบอิสรภาพเต็มให้แก่สหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย


พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ในสมรภูมิแห่งวอร์ซอ


ต่อมาปรากฎว่าทัพของฝ่ายเครือจักรภพนายเก่าเริ่มกลับมามีเปรียบอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากการได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย งานนี้พี่อิเล็คเตอร์ของเราก็เลยยื่นข้อเสนอแก่นายเก่าว่า หากยอมให้ตนเองมีอิสระปกครองตนเองแบบที่สวีเดนปกครองก็จะยอมเข้าเป็นพันธมิตรด้วยและจะไม่ช่วยสวีเดนทำศึกต่อไป ก็ทำให้นายเก่าอย่างพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียก็ใจอ่อนหลงเชื่ออีกคนเช่นกันครับ -*- และยอมตกลงรับบรานเดนเบิร์กมาเป็นพันธมิตร โดยให้มีอำนาจการบริหารปกครองดินแดนเองเช่นเดียวกับที่เคยเป็นในสมัยสวีเดนปกครอง ทำให้สหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียมีอิสรภาพปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ในปี 1657 ในสนธิสัญญาเวฮ์ลอว์ (Treaty of Wehlau) ซึ่งได้ตกลงเป็นมิตรกับนายเก่าของตนเองและร่วมกันรบสวีเดนอีกครั้งนั่นแหละครับ


พระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปแลนด์-ลิธัวเนีย


**ในตอนนี้บรานเดนเบิร์กมีอิสรภาพสมบูรณ์ แต่เครือจักรภพก็ยังไม่ได้สละสิทธิ์ในดินแดนดัชชีปรัสเซียนะครับ ทำให้ในอนาคตยังมีโอกาสจะกลับมายึดคืนได้โดยชอบธรรมอยู่ดี**

**ฝ่ายสวีเดนงานนี้ต้องรับศึกถึง 2 ด้านด้วยกันคือด้านของเครือจักรภพและด้านรัสเซีย แต่ซ้ำร้ายยังไม่พออยู่ดีๆพี่เดนมาร์ค(ซึ่งตอนนั้นยังปกรองนอร์เวย์อยู่ด้วย)แกก็ประกาศศึกซ้ำเข้าให้อีกเป็นด้านที่ 3 (ช่างซวยซ้ำซวยซ้อนจริงๆ -*-) ยังดีที่ว่าด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ก็ยังทำให้ศึกฝั่งเดนมาร์คสามารถผ่านไปได้ด้วยดีจนถึงกับสามารถบุกเข้าสู่เมืองโคเปนเฮเกนได้ และแม้ทางฝั่งเครือจักรภพเองจะได้กำลังหนุนจากออสเตรีย-ทรานซิลเวเนีย และวอลลาเชียมาเพิ่มในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่สามารถทำลายทัพอันแข็งแกร่งของสวีเดนลงได้มากเท่าไรนัก ทำได้เพียงไล่ทัพสวีเดนออกไปจากดินแดน "ปรัสเซีย" ของเครือจักรภพเท่านั้น ส่วนแถบลัตเวีย-ลิธัวเนีย ส่วนมากก็ยังอยู่ใต้การควบคุมของสวีเดนจนสิ้นสุดสงคราม**

หลายๆท่านอาจคิดว่าวีรกรรมของอิเล็คเตอร์เฟรเดอริคจะจบลงแค่นี้ แต่ทว่าความโหดของอิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 1 นี้ยังไม่จบลงง่ายๆนะครับ พอรบไปซักพักพี่แกก็เล่นชั้นเชิงอีกรอบ(เอาอีกแล้ว) โดยหลังเซ็นสัญญาในสนธิสัญญากลับมาเป็นพันธมิตรกับเครือจักรภพนั้น อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคเสนอให้เครือจักรภพถอนการอ้างสิทธิ์ในดินแดนดัชชีปรัสเซียทั้งหมดเพื่อแลกกับการที่ปรัสเซียจะคืนเมือง Warmia (ดินแดนปากในวิสตุลาปรัสเซียตะวันตกนั่นเอง) อันเป็นเมืองท่าสำคัญที่ฝ่ายปรัสเซียยึดมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ข้างสวีเดนคืนให้แก่เครือจักรภพ 

ฝ่ายพระเจ้าจอห์นที่ 2 เอง มัวแต่ห่วงเรื่องต้องการพันธมิตรต่อไปและอยากได้เมืองท่าสำคัญนั้นจึงติดกับดักเข้าไปเต็มๆ และยอมเซ็นนสนธิสัญญาบรอมเบิร์ก (treaty of Bromberg 1657) ซึ่งเท่ากับให้สิทธิสมบูรณ์แก่อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคในการปกครองดินแดนดั้งเดิมของตนเองทั้งหมด แถมยังไม่สามารถยึดคืนได้เพราะได้ลงนามสละสิทธิ์ไปแล้ว สิ่งนี้ทำให้เมื่ออิเล็คเตอร์เฟรเดอริคร่วมเซ็นสัญญาสงบศึกอย่างเรียบร้อยในปี 1660 ก็เท่ากับสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียมีสิทธิปกครองตนเองโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งเครือจักรภพงานนี้ก็จะได้แต่มองตาปริบๆในอนาคตอันใกล้นี้แหละครับ 55

ในตอนท้ายของสงครามนั้น ส่วนข้างเครือจักรภพภายหลังจากเดนมาร์คได้เข้าร่วมศึกแล้ว ก็ทำให้รัสเซียได้ถอนตัวกลับมารบกับเครือจักรภพอีกครั้งนับแต่ปี 1658 และสถานการณ์ก็แย่ลงเรื่อยๆ ส่วนข้างฝ่ายสวีเดนก็ต้องเผชิญปัญหาทางด้านการเงินที่ไม่อาจรองรับการทำศึกยืดเยื้อได้อีกต่อไป และพระเจ้าชาร์ลที่ 10 เองก็มาป่วยสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันอีก ทำให้ในที่สุดเมื่อมาถึงปี 1660 ก็ไม่มีใครอยากจะรบอีกต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายจึงตัดสินใจสงบศึกกัน

และเมื่อสงครามจบลงด้วยยับเยินของทั้งสองฝ่าย(ที่สวีเดนยังเป็นฝ่ายได้เปรียบเครือจักรภพอยู่นิดหน่อยเพราะยังครองเมืองแถบลิธัวเนียและเอสโตเนียอยู่อ่ะนะ)ตามที่อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคคาดการณ์ไว้ดังนั้น ก็ทำให้เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกโอลิวาร์ (Treaty of Olivar) ในปี 1660 สหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็น "รัฐอิสระ" อย่างเต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง ตามสนธิสัญญาบรอมเบิร์กที่เซ็นรับรองโดยพระเจ้าจอห์นที่ 2 แบบมึนๆไปนั่นแหละครับ ส่วนคู่สงครามหลักทั้งสองฝ่ายก็ต่างไม่ได้สูญเสียอะไรต่อกันในสนธิสัญญามากเกินไปนักนัก แต่แน่นอนว่างานนี้เครือจักรภพเราก็ต้องเสียดินแดนแถบลัตเวีย-ลิธัวเนียให้พี่สวีเดนไปตามระเบียบ

มหากาพย์สงครามฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์ 

ในประวัติศาสตร์ของปรัสเซียนั้น นอกจากความพ่ายแพ้ในยุคนโปเลียนแล้ว ก็แทบจะไม่มีความพ่ายแพ้ทางการทหารใดๆที่นับว่าส่งผลกระทบต่ออาณาจักรนี้จริงๆจังๆได้เลย แต่ว่าเรื่องที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้จะถูกนับเป็นความพ่ายแพ้ทางการฑูตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เลยล่ะครับ เรื่องราวจะเป็นยังไงเชิญติดตามได้เลยเน้อ ^^

**อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับปรัสเซียเท่าไรหรอก แต่ว่าเป็นช่วงเกี่ยวพันที่น่าสนใจอยู่ ข้าน้อยเลยแปะไว้เน้อ

ต้นเหตุของความขัดแย้งฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์ **เกร็คความรู้แจ้**

เอาล่ะคงต้องกล่าวถึงต้นเหตุของความขัดแย้งที่เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ครั้งนี้กันหน่อย...นับตั้งแต่สงคราม 30 ปี(1618-1648)เป็นต้นมาฝรั่งเศสได้พยายามสนับสนุนการเงินแก่ฝ่ายโปรเตสแตนท์ที่นำโดยสวีเดนตั้งแต่ปี 1631 มาโดยตลอด รวมถึงเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรทางการทหาร(Military Alliance)กับสวีเดนอีกด้วย ถามว่าทำไมฝรั่งเศสซึ่งเป็นคาทอลิกแท้ๆจึงทำเช่นนั้น? ก็เพราะว่าฝรั่งเศสต้องการที่จะทำลายฐานอำนาจของราชวงศ์ฮับบูรกส์ซึ่งขณะนั้นรายล้อมฝรั่งเศสอยู่ถึง 3 ด้าน ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าเป็นภัยคุกคามมากกว่าภัยทางศาสนาเสียอีก นั่นก็คือ

1. ภัยด้านทิศตะวันออก คือดินแดนของจักรวรรดิออสเตรียเอง และบรรดารัฐภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของออสเตรีย

2. ภัยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดินแดนเนเธอร์แลนด์ของสเปน (Spanish Netherland หรือเบลเยียมในปัจจุบันนั่นเอง)

3. ภัยด้านทิศใต้ ดินแดนของสเปนซึ่งในขณะนั้นควบรวมประเทศโปรตุเกสไว้ด้วย

แต่ทว่า เมื่อเหตุการณ์กลับพลิกผัน และสวีเดนกลับพ่ายแพ้ในยุทธการนอร์ดลิงเกน (Battle of Nordlingen) จนทำให้ฝ่ายฮับบูรกส์ซึ่งในขณะนั้นได้เข้าร่วมหมดทั้ง 3 แนวสามารถกลับมามีเปรียบในสงครามอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นนำโดยอัครมหาเสนาบดี "คาร์ดินัลริเชอลิเออ" จึงตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายโปรเตสแตนท์โดยอ้างการเป็นพันธมิตรกับสวีเดนตั้งแต่ 1631 นั่นเอง และเป็นการทำให้กระแสสงครามกับมาคู่คี่ก้ำกึ่งอีกรอบหนึ่ง

**ณ ตอนนี้ ในส่วนของเนเธอร์แลนด์หรือจังหวัดรวม(United Province) กำลังต่อสู้อยู่กับสเปนเพื่ออิสรภาพมาตั้งแต่ปี 1568 แล้วนะครับ และก็ยังสู้อยู่จนจบสงครามครั้งนี้เลยเน้อ และเนเธอร์แลนด์ได้เข้าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโปรเตสแตนท์ตั้งแต่แรกๆในสงคราม 30 ปีเลยด้วยนะครับ โดยศึกประกาศอิสรภาพที่ยืดเยื้อยาวนานโคตรๆระหว่าง 1568-1648 นี้เราเรียกกันว่า "สงครามแปดสิบปี" นั่นเองครับ โดยตลอดระยะเวลาของสงครามแปดสิบปีนี้ ฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์ก็มีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอดเพื่อจุดประสงค์ต่อต้านสเปนทั้งคู่**

การประกาศศึกของฝรั่งเศสโดยตรงต่อสเปนครั้งนี้ทำให้เกิดเป็นมหากาพย์ศึกระหว่างสเปนภายใต้การนำของพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ยาวไปจนถึงสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเรียกกันว่า "Franco - Spanish war 1635 - 1659"

ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมของฝรั่งเศสในสงคราม 30 ปีจะทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากสเปนในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียปี 1648 และกลายเป็นมิตรกับฝรั่งเศสในหลังจากนั้น แต่การเข้าร่วมของฝรั่งเศสในสงครามนี้ ก็ทำให้ฝรั่งเศสกับสเปนก็ยังต่อสู้กันเรื่อยมาอีกถึง 24 ปี โดยสงครามเป็นไปอย่างดุเดือด และจบลงด้วยสนธิสัญญาแห่งพิเรนนีส (Treaty of Pyrenees 1659) ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์ แต่ว่าด้วยสนธิสัญญานี้เอง ที่จะย้อนกลับมาทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีมาอย่างยาวนานในอนาคตอันใกล้ด้วยครับ

เพราะในสนธิสัญญาฉบับนี้มีส่วนหนึ่งได้ระบุให้พระราชธิดาพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 คือ "มาเรีย เทเรซา" จะต้องมาแต่งงานกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยจะสละสิทธิ์ในดินแดนของพระราชบิดาของพระนางทั้งหมด โดยแลกกับการที่สเปนจะจ่ายเงินมากให้แก่ฝรั่งเศสแลกกับการสละสิทธ์ของพระนางในดินแดนเหล่านี้(โดยเฉพาะเขตเบลเยียมหรือ Spanish Netherlands ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหวติดกับชายแดนฝรั่งเศส) แต่ปรากฎว่าสเปนซึ่งกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงกลับไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ฝรั่งเศสได้เลย

สิ่งนี้ทำให้เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีอำนาจเต็มหลังการเสียชีวิตของมหาเสนาบดีมาซาแรงค์ในปี 1661 พระองค์จึงต้องการขยายอำนาจเข้าสู่เบลเยียมซึ่งยังคงอยู่ในการปกครองของสเปน และเมื่อพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 สิ้นพระชนม์ลงในปี 1665 พระองค์จึงนำเรื่องหนี้ของสเปนที่ค้างจ่ายอยู่มาอ้างสิทธิ์ของพระมเหสีในการครอบครองดินแดนเบลเยียมของสเปนนั่นเอง ซึ่งการประกาศสงครามครั้งนี้เองเป็นต้นเหตุของ "สงครามการมอบอำนาจ หรือ War of Devolution" โดยเริ่มในปี 1667 นั่นเองครับ

ในสงครามนี้ ฝรั่งเศสมีเปรียบอย่างยิ่งมาโดยตลอดจนสามารถยึดดินแดนเบลเยียมได้แทบทั้งหมด แต่ปัญหาคือผู้นำซึ่งกุมอำนาจของเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นคือโจฮาน เดอ วิทท์ (Johan de Witt) ซึ่งกำลังรบกับอังกฤษอยู่โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เองเป็นพันธมิตรร่วมรบในสงครามแองโกล-ดัทช์ครั้งที่ 2 (Second Anglo-Dutch war 1665-1667) อยู่มาแต่ก่อนนั้น เขาคนนี้กลับตัดสินใจสงบศึกกับอังกฤษแทบทันทีที่ฝรั่งเศสเข้ารบกับสเปนทั้งๆที่ได้เปรียบอยู่อย่างมาก เนื่องต้องการกลับมาใส่ใจทางฝรั่งเศสแทนซะงั้นล่ะครับ

เขาและขาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากต่างกลัวการขยายอำนาจของฝรั่งเศสที่เริ่มมากเกินไป และมองว่าอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดิมในตอนนั้นก็มีมากจนเป็นภัยทางการค้าของประเทศเล็กๆอย่างตนอยู่แล้ว() และหากให้มีอำนาจติดกับดินแดนตนเองจะต้องเป็นภัยมากกว่าสเปนเสียอีก เพราะฉะนั้นในตอนแรก เขาจึงพยายามเข้ามาขอเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนในครั้งนี้ แต่ทว่าฝรั่งเศสก็ไม่ยินยอมในการเข้ามาเป็นคนกลางของเนเธอร์แลนด์ และสงครามก็ยังดำเนินต่อไป โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ไม่ได้ระแวงในพันธมิตรเก่าแก่ของเขาคนนี้เลย

ภายหลังจากถูกปฏิเสธครั้งนี้ โจฮานจึงหันไปหาศัตรูทางการค้าหลักที่เพิ่งรบกันเสร็จหมาดๆของตนคืออังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นกำลังพยายามหาพันธมิตรใหม่อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าอังกฤษรับข้อเสนอของเขา นอกจากนี้เขายังหาทำข้อเสนอเป็นพันธมิตรกับสวีเดนโดยแลกเปลี่ยนช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งสวีเดนในขณะนั้นกำลังประสบปัญหาอย่างหนักอยู่พอดีอันเนื่องจากการศึกที่ยืดเยื้อในสมัยสงครามภูมิภาคเหนือครั้งที่ 2 ที่เคยกล่าวมานั่นแหละครับ หลังจากเขาสร้างพันธมิตร 3 ประเทศได้แล้ว เขาจึงนำไปบีบบังคับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เลิกทำสงครามเพื่อดำรงไว้ซึ่ง "สถานะดั้งเดิม (Status quo)" ให้มากที่สุด ไม่ให้ดุลอำนาจของสเปนเปลี่ยนมากเกินไป โดนหากพระเจ้าหลุยส์ไม่ยอม ทั้ง 3 ประเทศก็จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อผลักดันกองทัพฝรั่งเศสกลับสู่พรมแดนดั้งเดิมในปี 1659 (เอาง่ายๆจะช่วยกันยำฝรั่งเศสอ่ะแหละ -*-)

งานนี้พระเจ้าหลุยส์เราก็ไม่รู้จะทำยังไงแหละครับ เพราะกองทหารฝรั่งเศสของแกนั้นน้อยกว่าสมัยเริ่มสงคราม 30 ปีเสียอีก เพราะว่าการศึกที่ยืดเยื้อกับสเปนมานานก่อนหน้านั้นทำให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หากถูกพันธมิตร 3 ชาติรุมรบอีกก็ไม่ไหวแหงๆ ทำให้ในที่สุดพระอง์ก็จำต้องลงนามสงบศึกในสนธิสัญญาเอกซ์-ลา-ชาเปล โดยพระองค์ได้ดินแดนเพิ่มมาน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ได้ลงไปตลอดสงคราม

และงานนี้ไม่ต้องห่วงครับ งานนี้เนเธอร์แลนด์เลยถูกพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เกลียดเอามากๆ ถึงแม้ว่าจะพยายามแก้ตัวว่าไม่ได้ต้องการทรยศตัวเอง แต่มีเรอะที่พระเจ้าหลุยส์ของเราจะเชื่อ -*- จากที่เคยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและซื่อสัตย์ต่อกันมาโดยตลอด เนเธอร์แลนด์ก็กลายเป็น "ไอพวกนอกศาสนา ไอพวกทรยศเพื่อน" ในสายตาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปในทันที และหลังจากนี้แหละครับ เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดจะกลายเป็นต้นเหตุของศึกที่ท่าน Great Elector ของเราจะเข้าร่วมและพ่ายแพ้ทางการฑูตต่อพระเจ้าหลุยส์ไปในที่สุดเน้อ

**17/01/15 ข้าน้อยสัญญาว่าพรุ่งนี้จะเข้าเรื่องครับผม 55**

และนี่แหละครับคือเรื่องราวของผู้ปกครองทั้ง 3 ท่านของสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย ก่อนที่จะได้ขึ้นเป็น "กษัตริย์" อย่างเต็มตัวในสมัยต่อมาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น