วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ปรัสเซีย ตอนที่ 3 ช่วงก่อร่างสร้างชาติ วีรกรรมของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2

หลังจากจบสงครามดินแดนเหนือครั้งที่ 2 ในปี 1660 สหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซียก็ตั้งตัวเป็นอิสระได้ และในอีก 3 รุ่นต่อมาเมื่อมาถึงสมัยของเฟรเดอริคที่ 3 เขาก็ได้ประกาศตัวเองเป็น "King in Prussia" หรือ "กษัตริย์ในปรัสเซีย" เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของ "อาณาจักรปรัสเซีย" อย่างแม้จริง โดยต่อไปนี้ผมจะนำเสนอข้อมูลการบริหารและเหตุการณ์สำคัญของกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรปรัสเซียแห่งนี้ให้ฟังโดยคร่าวๆ(มั้ง)กันเด้อ

____________________________________________________________________________

1.พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 1 (1688-1701 อิเล็คเตอร์แห่งสหอาณาจักรบรานเดนเบิร์ก-ปรัสเซีย) และ (1701-1713 กษัตริย์ในปรัสเซีย) แต่เดิมเคยดำรงพระยศเป็น "Elector of Brandenburg" และ "Duchy of Prussia" เช่นเดียวกับผู้ปกครอง 3 คนก่อน โดยแต่เดิมทรงใช้พระนามว่า "เฟรเดอริคที่ 3" แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปี ก็ทรงประกาศสามารถพระองค์ขึ้นเป็น "King in Prussia" เพราะพระองค์ถือว่าดินแดนดัชชีแห่งปรัสเซียหรือปรัสเซียตะวันตกนั้นไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์จึงมีสิทธิ์ที่จะดำรงพระยศเป็น "กษัตริย์ในปรัสเซีย" ควบคู่กับ "เจ้าแห่งมาเกรฟบรานเดนเบิร์ก" แทนในปี 1701

พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 1 ในฉลองพระองค์เต็มยศอย่างกษัตริย์


ที่การประกาศพระองค์เป็น "กษัตริย์" นั้นได้รับการยินยอมจากออสเตรียผู้เป็นจักรพรรดิ ก็เป็นเพราะในสมัยของพระบิดาของพระองค์คือ "เฟรเดอริค วิลเฮล์ม" หรือ "The great Elector" ได้พยายามทำตนเป็นมิตรกับออสเตรียตลอดรัชสมัยของพระองค และยังช่วยโหวตให้ออสเตรียได้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิโดยไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้ออสเตรียในขณะนั้นรู้สึกดีต่อปรัสเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่ออิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 3 ได้ยื่นข้อเสนอที่จะขอเลื่อนยศของตนเองในเขตปรัสเซียตะวันออก (เพราะไม่ได้อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมอยู่แล้ว) เป็นกษัตริย์แลกกับการเข้าร่วมสงครามชิงราชสมบัติสเปน (1701-1714) ก็ทำให้จักรพรรดิลีโอโปลด์ที่ 1 ยอมได้โดยไม่ขัดข้องอะไรมากนัก และทำให้สามารถเปลี่ยนชื่อของอาณาจักรเป็น "ราชอาณาจักรปรัสเซีย" ควบคู่กับการดำรงตำแหน่ง "เจ้ามาเกรฟแห่งบรานเดนเบิร์ก" ซึ่งเป็นตำแหน่งหนึ่งในผู้คัดเลือกจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธ์ไปพร้อมกันได้ในที่สุด

อิเล็คเตอร์เฟรเดอริคที่ 3 ได้ไปกระทำพิธีสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ที่เมือง Königsberg (โคนิกส์เบิร์ก แปลว่าหุบผากษัตริย์ อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งก็คือ Ostpreusen ซึ่งเรียกกันมาตั้งแต่เป็นเมืองหลวงของอัศวินทิวโทนิค) เพื่อเป็นการแสดงออกว่าพระองค์ไม่ได้ถือตนว่าเป็นอิสระจากจักรพรรดิ แต่คงพระราชอำนาจเพียงในเขตปรัสเซียเท่านั้น ส่วนในบรานเดนเบิร์กและดินแดนในเยอรมันอื่นๆก็ยังคงเป็นเพียง "อิเล็คเตอร์" ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิอยู่ นับเป็นการเปิดศักราชของ "ราชอาณาจักรปรัสเซีย" ขึนอย่างเป็นทางการนับแต่วันที่ 18 มกราคมปี 1701

ตลอดรัชสมัยของพระองค์นับว่าปรัสเซียค่อนข้างอยู่ในความสงบสุขไม่มีศึกสงครามอันใดนอกจากสงครามชิงราชสมบัติสเปนซึ่งติดด้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาล นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ยุคที่ปรัสเซียได้อยู่อย่างสงบ

____________________________________________________________________________

2.พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 1 (1713-1740) เป็นที่รู้จักกันในนามของ "กษัตริย์นักรบ" พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทุ่มเทเวลาแทบทั้งชีวิตไปกับการทหาร เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่จะปูทางให้รัชทายาทของพระองค์สามารถก้าวขึ้นเป็น “มหาราช”ได้สำเร็จ พระองค์ได้ดำเนินพระราชกรณียกิจหลายๆอย่างตลอดรัชสมัย เนื่องจากพระองค์ทรงแลเห็นว่าอาณาจักรของพระองค์มีขนาดเล็กกว่ามหาอำนาจทั้งหลายในยุโรปเป็นอันมาก พระองจึงปฏิรูปประเทศของพระองค์ในหลายๆด้านเช่น

พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 1 The soldier king

- ทรงริเริ่มใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง(Self-Sufficiency) ตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ก็ได้ปลดช่างฝีมือที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบิดาของพระองค์หรือ The great elector ออกจากราชสำนักแทบทั้งหมด และนำเงินทั้งหมดไปใช้ในการทหารแทน และยังจำกัดการพึ่งพาสินค้าต่างประเทศทั้งหลาย ทำให้เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว

- เพิ่มความเข้มข้นในการเกณฑ์ทหาร โดยการเกณฑ์ทหารในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปอย่างเข้มงวดอย่างมากทำให้ทหารของปรัสเซียซึ่งแต่เดิมสามารถเกณฑ์ในยามปกติได้เพียงประมาณ 39000 คนเพิ่มเป็น 45000 คนได้ตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลและเพิ่มเป็นเกือบ 80000 คนในปลายของรัชกาล ทำให้กองทหารราบของพระองค์เข้มแข็งเป็นอันดับ 2 ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าเจ้าครองนครแซกโซนี่ซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจทางการทหารในแถบเหนือของโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ในที่สุด

- ด้วยการช่วยเหลือของพระสหายคือ “ลีโอโปลด์ที่ 1 เจ้าชายแห่งอัลเฮาท์-เดสเซา” หนึ่งในซึ่งผู้เชี่ยวชาญการจัดรูปขบวนรบด้วยกลอง (Drillmaster) อันดับต้นๆของยุโรปในขณะนั้น ได้มาช่วยในการฝึกฝนรูปขบวนทหารแบบใหม่อย่างจริงจังโดยได้นำการฝึกฝนแบบ Drill-Infantry เข้ามาใช้ และยังรวมถึงฝึกฝนการเดินแบบตบเท้าให้แก่กองทหารปรัสเซีย ทำให้ปรัสเซียมีกองทหารที่ที่มีระเบียบวินัยและประสิทธิภาพเหนือกว่าออสเตรียได้สำเร็จ โดยเขาผู้นี้ยังได้มีวีรกรรมอีกครั้งในสมัยสงครามไซลีเซียนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 หรือสงคราม 7 ปี ในรัชสมัยของ “เฟรเดอริคมหาราช” อีกด้วย

เจ้าชายลีโอโปลด์ที่ 1 แห่งอัลเฮาท์-เดาสเซา ผู้มีฉายาในกองทัพปรัสเซียว่า "ผู้เฒ่าแห่งเดสเซา"


- ทรงทำให้หน่วยราชองครักษ์ส่วนพระองค์ตั้งแต่รัชสมัยก่อนคือ “Giant Potsdam” หน่วยทหารพิเศษที่มีส่วนสูงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเคยเป็นหน่วยราชองครักษ์ที่มีขนาดใหญ่ในสมัยพระบิดาของพระองค์ให้ยุบเป็นหน่วยเล็กที่มีประสิทธิภาพสูงมากเดียว และบำรุงหน่วยทหารนี้ด้วยเงินส่วนตัวของพระองค์เอง โดยรวบรวมทหารที่มีฝีมือจากทั่วยุโรปเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาโดยเฉพาะภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และฝรั่งเศส ทำให้ปรัสเซียมีกองทหารองครักษ์ที่ถือได้ว่าดีที่สุดแห่งยุค เป็นการส่งเสริมบารมีของกษัตริย์ปรัสเซียอย่างดียิ่ง ปล.แต่ค่าเลี้ยงดูก็สูงพอตัวเลยแหละ ฮา


นายทหารในหน่วย Giant Potsdam (Langen kerls ในภาษาเยอรมัน)


การสงคราม

พระองค์ทรงพาปรัสเซียเข้าสู่มหาสงครามเหนือ (Great northern war) ซึ่งปรัสเซียเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรของรัสเซีย ทำให้เมื่อสงครามสงบและฝ่ายพันธมิตรรัสเซียเป็นฝ่ายชนะ ปรัสเซียจึงได้ดินแดน Pommerania ส่วนใญ่มาไว้ในครอบครอง ซึ่งเดิมเป็นเคยเป็นดินแดนริมชายฝั่งเยอรมันของสวีเดนมายึดไว้ตั้งแต่สมัยสงคราม 30 ปี ถึงแม้จะได้ดินแดนมาน้อยกว่าที่พระองค์ทรงหวังอยู่บ้าง ก็นับเป็นการขยายดินแดนของราชอาณาจักรปรัสเซียในเขตบอลติคเพิ่มเติมได้สำเร็จ แต่ก็นับเป็นศึกสำคัญเพียงครั้งเดียวที่ปรัสเซียเข้าร่วมในสมัยรัชกาลนี้

ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ประกาศศึกตรงๆกับใครเลยทั้งๆที่มีกำลังทหารที่แข็งแกร่งมากจนนับได้ว่าเป็นที่ 4 ของยุโรป ก็เนื่องมาจากปณิธานของพระองค์ ที่ตั้งใจจะปกป้องประเทศอาณาจักรเท่านั้น แต่สิ่งที่พระองค์กระทำไว้แก่ปรัสเซียก็จะปูทางให้เกิดมหาราชองค์ใหม่ขึ้นในโลกอีกคนนั่นก็คือ “พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช” นั่นเอง

_____________________________________________________________________________

3. พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 (1740-1786) ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินชื่อ “เฟรเดอริกมหาราช” มาบ้างแน่ๆ อันที่จริงผมเชื่อว่าทุกท่านคงหาข้อมูลของกษัตริย์องค์นี้ได้เองโดยไม่ยากนักดังนั้นผมจึงขอเล่าเฉพาะเรื่องสงครามและวีรกรรมสำคัญๆในรัชสมัยของพระองค์นะครับ



หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ไม่กี่เดือน อาร์ชดุ๊กชาร์ลที่ 6 แห่งออสเตรียก็สิ้นพระชนม์ลง โดยทิ้งราชสมบัติให้กับรัชทายาทของพระองค์คืออาร์คดัชเชสมาเรีย เทราซา เมื่อทราบข่าวกษัตริย์เฟรเดอริกที่ 2 จึงเข้าร่วมกับราชอาณาจักรบาวาเรียซึ่งได้อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังค์ออสเตรีย โดยการได้ฉีกข้อตกลงพระวจนะปฏิบัติหรือ Pragmatic sanction ซึ่งพระบิดาของพระองค์เองเคยรับรองมาเรีย เทเรซาในการขึ้นเป็นกษัตริย์ออสเตรียอย่างถูกต้องตั้งแต่ปี 1713 การฉีกสัญญารั้งนี้ทำให้เฟรเดอริกที่ 2 เข้าร่วมในการก่อสงครามชิงราชสมบัติออสเตรียในปี 1740 ด้วย โดยพระองค์ได้อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนไซลีเซียทางภาคตะวันออกของดินแดนโบฮีเมียหรือดินแดนชายแดนของโปแลนด์ที่อยู่ติดกับสาธารณรัญเช็กในปัจจุบัน โดยอาศัยสนธิสัญญาแห่งไซลีเซียนในปี 1526 ซึ่งกษัตริย์โบฮีเมียในขณะนั้นได้ตกลงไว้ว่าหากราชวงศ์ Piast ในโบฮีเมียสิ้นสุดลงเมื่อไร อาณาจักรจะต้องตกเป็นของวงส์โฮเฮนเซิลเลิน ซึ่งในขณะนั้นโบฮีเมียตกอยู่อยู่ใต้อำนาจของออสเตรียไปนานแล้ว พระองค์จึงนำสนธิสัญญาที่ถูกลืมนี้กลับมาเป็นข้ออ้างในการประกาศสงครามอีกครั้ง


ไซลีเซียนในปัจจุบัน


สงครามชิงราชสมบัติออสเตรียหรือสงครามไซลีเซียน

ในสงครามสำคัญครั้งแรกที่ยุทธการโมลวิตซ์ (Mollwitz) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของของสงครามไซลีเซียนครั้งที่ 1 หลังจากประกาศสงครามพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 ทรงนำทหารประมาณ 21000 นาย เข้ายึดดินแดนส่วนใหญ่ของแคว้นไซลีเซียอย่างรวดเร็วโดยแทบไร้การต่อต้าน ทำให้ออสเตรียส่งทัพเกือบ 20000 นำโดย Count Wilhelm Von Neipperg มากู้ดินแดนคืน ขณะนั้นเฟรเดอริคที่ 2 ยังคงตั้งทัพอยู่ในเมืองไซลีเซียโดยไม่คาดคิดว่าออสเตรียจะโต้กลับใดๆ ทำให้ทัพของออสเตรียประสบความสำเร็จในการยกทัพอ้อมผ่านค่ายพระเจ้าเฟรเดอริค ตัดเส้นทางส่งเสบียงและกำลังสนับสนุนของปรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ทำให้ทัพของปรัสเซียต้องถอยกลับมาสู้ศึกด้วยความจำเป็น

พระเจ้าเฟรเดอริคทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เป็นครั้งแรก แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ของพระองค์ทำให้กองทัพของพระองค์เสียรูปขบวนจากการโดนทัพม้าของออสเตรียทำลายปีกขวาอย่างยับเยินตั้งแต่ต้น พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 จึงหนีออกจากสมรภูมิเพราะแลเห็นแล้วว่าคงจะพ่ายแพ้แน่ๆ แต่ทว่าด้วยความช่วยเหลือของนายทหารผู้เคยรับใช้ 3 อาณาจักรอย่าง Kurt Christoph Graf von Schwerin ซึ่งเป็นนายทหารที่ผ่านศึกมาอย่างโชกโชน ก็ทำให้ทัพปรัสเซียสามารถพลิกกลับมาชนะได้ และสามารถเข้ายึดครองเขตไซลีเซียอย่างสมบูรณ์จนออสเตรียต้องทำสนธิสัญญาวรอตสวัฟ (Treaty of Breslau) ในปี 1742 และออสเตรียเสียดินแดนในไซลีเซียเหนือทั้งหมดให้ปรัสเซีย 

Kurt Christoph Graf von Schwerin (อ่านไม่ออกเฟร้ย)

หลังสงครามครั้งนี้พระเจ้าเฟรเดอริคได้ให้สัตย์สาบานต่อบรรดาทหารว่าพระองค์จะไม่ทิ้งทหารของตนในสงครามเช่นในยุทธการโมลวิตซ์อีก และพระองค์ก็รักษาคำสัตย์นั้นไว้ได้ตลอด 47 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ หล่อซะไม่มีนะครับผู้อ่านทุกท่าน ฮา

ต่อมาในปี 1743 พระนางมาเรีย เทเรซา ได้ประกาศศึกต่อปรัสเซียเพื่อแย่งชิงดินแดนไซลีเซียกลับมาศึกครั้งนี้นิยมเรียกว่าสงครามไซลีเซียนครั้งที่ 2 บางครั้งถูกนับรวมกับรั้งที่ 1 ว่า War of Austrian succession ในศึกครั้งนี้ปรัสเซียได้รับชัยชนะอย่างสวยงาม พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 ได้รับชัยชนะเหนือกองทัพออสเตรีย 2 ครั้งในสมรภูมิ Hohenfriedberg และสมรภูมิ Soor ด้วยการบัญชาทัพด้วยพระองค์เอง

ซึ่งอันที่จริงสงครามควรจะจบตั้งแต่ศึก 2 ครั้งนี้แล้ว แต่ทว่าพระนางมาเรีย เทรเรซากลับสั่งให้ทัพออสเตรีย 35000 นายเข้าโจมตีฝ่ายปรัสเซียอีกครั้ง และในคราวนี้ก็ถึงคราวนักปฏิรูปทางการทหารคนสำคัญตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 คือ “ลีโอโปลด์ที่ 1 เจ้าชายแห่งอัลเฮาท์-เดสเซา” ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายปรัสเซียอีกครั้ง และโจมตีจนทัพออสเตรียพ่ายแพ้ไปในสมรภูมิ Kesseldolf เป็นอันปิดฉากสงครามครั้งนี้ได้สำเร็จ ออสเตรียต้องลงนามในสนธิสัญญาเดรสเดน (Treaty of Dresden) ซึ่งพระนางมาเรีย เทเรซาต้องยินยอมให้ปรัสเซียมีสิทธิอันชอบธรรมเหนือไซลีเซีย แลกเปลี่ยนกับการที่ปรัสเซียจะยอมรับดุ๊กฟรานซิส สตีเฟนแห่งลอเรนส์ หรือพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 พระสวามีของพระนางในฐานะของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยชอบธรรมเป็นการแลกเปลี่ยน

สงคราม 7 ปี

มาถึงในปี 1756 ก็เกิดสงครามอีกครั้งโดยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติทางการทูต (Diplomatic revolution) ที่พันธมิตรใหญ่ๆในยุโรปต่างสลับฝั่งกัน ทำให้ออสเตรียได้พันธมิตรเป็นฝรั่งเศส-รัสเซีย-รัฐแซกโซนี่และสวีเดน และทั้งห้าชาติได้เป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของปรัสเซีย พระเจ้าเฟรเดอริคจึงทรงชิงประกาศสงครามใส่ออสเตรียก่อนเพื่อนชิงความได้เปรียบ โดยศึกนี้มักรู้จักกันนนามของ  ในศึกนี้ถึงแม้ปรัสเซียจะได้อังกฤษ-อาณาจักรแฮนโนเวอร์-ราชรัฐรบรันช์วิกส์(Brunswick)และอาณาจักรเฮส(Hesse)มาเป็นพันธมิตร แต่ทว่าในภาคพื้นทวีปก็ไม่สามารถต้านกำลังของชาติพันธมิตรนี้ซึ่ีงมีอำนาจทางบกเหนือกว่าตนอย่างมากได้ จนต้องพ่ายแพ้ย่อยยับในยุทธการเคาส์ดอร์ฟ(Battle of Kunerdolf) ปี 1759 และต้องถอยทัพกลับเรื่อยๆจนถึงกรุงเบอร์ลิน

ผลจากยุทธการเคาส์ดอร์ฟนั้น ทำให้ดินแดนดัชชีแห่งปรัสเซียหรือปรัสเซียตะวันออกต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียไปยาวนานถึง 3 ปี และปรัสเซียสูญเสียทหารไปมากกว่า 20000 นายในคราวเดียว นับเป็นหายนะต่อปรัสเซียซึ่งมีกองกำลังสำรองน้อยกว่ามหาอำนาจอย่างจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิออสเตรียซึ่งถึงแม้จะสูญเสียทหารไปพอๆกัน แต่ก็ยังสามารถกะเกณฑ์มาใหม่ได้ แต่สำหรับปรัสเซียนั่นหมายถึงหายนะที่หมายถึงการล่มสลายอาจอยู่ไม่ไกลเท่าไรแล้ว

แต่เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นเมื่อกองทัพทัพรัสเซียข้ามแม่น้ำโอเดอร์ในไซลีเซียได้สำเร็จแทบพร้อมๆกับกองทัพออสเตรียที่ยกเข้าเรียบเข้ามาจากที่ราบสูงโบฮีเมียจากด้านใต้ พระเจ้าเฟรเดอริคได้รวบรวมทหารเป็นครั้งสุดท้ายได้ประมาณ 33000 นาย เพื่อปกป้องกรุงเบอร์ลิน เพราะพระองค์ทรงคาดการณ์ไว้ว่ากองทัพพันธมิตรกว่า 90000 คนคงกรีธาทัพเข้าล้อมเบอร์ลินในไม่กี่วัน และพระองค์ก็มั่นใจว่าจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้แน่ๆ แต่พระองค์ก็ยืนกรานจะสู้จนถึงที่สุด

แต่ทว่าเหตุการณ์กลับพลิกผันไปแบบเหนือความคาดหมาย เมื่อทัพรัสเซียและออสเตรียกลับถอนทัพกลับทั้งคู่ เนื่องจากต่างฝ่ายกังวลในการถลำลึกเข้าไปในดินแดนปรัสเซียมากเกินไปและกังวลเกี่ยวกับทัพของปรัสเซียซึ่งอาจยังหลงเหลืออยู่ ผลจากการหวาดระแวงมากจนเกินไปของแม่ทัพของ 2 ฝ่าย ทำให้ปรัสเซียรอดมาได้อย่างหวุดหวิด และนำไปสุ่การที่ปรัสเซียสามารถมีชัยชนะเหนือกองทัพฝรั่งเศสในภาคตะวันตกในยุทธการเวสต์ฟาเลียทำให้กองทัพฝรั่งเศสและทัพพันธมิตรภาคพื้นทวีปอ่อนเปลี้ยลงอย่างยิ่ง ถือเป็น “”ความมหัศจรรย์แห่งวงศ์โฮเฮนเซิลเลินครั้งแรก”

สงครามดำเนินต่อมาอีก 3 ปี ปรัสเซียเริ่มเสียเปรียบอีกครั้ง ต้อง สูญเสียทหารไปมากกว่าหนึ่งแสนนาย ทัพของพันธมิตรบุกจนเกือบประชิดกรุงเบอร์ลินอีกครั้งในปี 1762 พระเจ้าเฟรเดอริคทรงวิตกกังวลจนเกือบจะทำอัตนิวิบาตกรรมตนเอง แต่เหตุมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อซารีนาเอลิซาเบทแห่งรัสเซียเสด็จสวรรคตในวันที่ 5 มกราคม 1762 และซาร์ปีเตอร์ที่ 3 ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อ ปรากฏว่าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 กลับเป็นผู้ที่นิยมเลื่อมใสในตัวพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 และความเป็นปรัสเซียอย่างมาก ทำให้พระเจ้าซาร์ทรงสงบศึกกับปรัสเซียในทันที เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า “ความมหัศจรรย์แห่งวงศ์ฮเฮนเซิลเลินครั้งที่ 2” และต่อมาไม่นานสวีเดนซึ่งเหนื่อยล้าจากสงครามอย่างมากก็ออกจากสงครามในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสก็ต่างอ่อนเปลี้ยเพลียแรงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายอันเนื่องจากการศึกที่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอดและความไม่มั่นคงของการเมืองภายในประเทศ ทำให้สงครามที่ยืดยาวมากว่า 7 ปีนี้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายปรัสเซียในปี 1763 ทำให้พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 สามารถรักษาอำนาจในไซลีเซียไว้ได้และเป็นที่ยอมรับในหมู่รัฐเยอรมันทั้งปวงในฐานะของ “มหาอำนาจ” อย่างแท้จริง
_______________________________________________________________________


ดินแดนปรัสเซียในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 "มหาราช"

หลังจากสงครามนี้เสร็จสิ้นลงพระเจ้าเฟรเดอริคก็ทรงหันมาทำนุบำรุงด้านการปกครองและกฎหมายมากขึ้น พระองค์เป็นหนึ่งในกษัตริย์เพียงไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ยังเปิดโอกาสให้ศาสนิกชนต่างศาสนาสามารถมีบทบาทในบ้านเมืองได้โดยไม่ถึงกับปิดกั้นเช่นในยุโรปประเทศอื่นๆขณะนั้น จึงทำให้ทั้งพวกฮุเกอโนร์จากฝรั่งเศสหรือแม้แต่ชาวยิวก็สามารถทำมาหากินในแผ่นดินได้อย่างเสรี ทำให้ปรัสเซียมีความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนการเพาะปลูกซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นักในเขตดัชชีปรัสเซียโดยการถมที่ดินที่เป็นหลุมบ่อริมฝั่งบอลติคให้สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสมัยที่ผ่านๆมาทั้งหมด

เมื่อมาถึงปี 1772 พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 และพระนางมาเรีย เทเรซา ซึ่งเป็นคู่อริกันมาแต่เดิม ต่างก็ได้รับคำเชิญจากพระนางแคเธอรีน มหาราชซึ่งเป็นซาร์แห่งรัสเซียในขณะนั้นให้เข้าร่วมกันในการแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 1 (First partition of Poland) อันเนื่องจากการเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย กษัตริย์ทั้ง 2 ยอมตกลงเข้าร่วมศึกครั้งนี้ และผลจากการรบทำให้ประเทศปรัสเซียได้ดินแดน “Royal Prussia” หรือปรัสเซียตะวันตกกลับมา ทำให้ดินแดนดั้งเดิมในปรัสเซียของอัศวินทิวโทนิคในปี 1410 ตกเป็นของอาณาจักรปรัสเซีย ดินแดนของพระองค์จึงสามารถรวม “ปรัสเซีย” ทั้งหมดอยู่ภายใต้อาณาจักรปรัสเซียได้สำเร็จ จากผลงานต่างๆตลอดทั้งรัชสมัยทำให้ทุกๆชาติต่างยอมรับในอำนาจของปรัสเซีย ซึ่งแน่นอนรวมถึงออสเตรียเองด้วย พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 จึงประกาศตนเองเป็น “King of Prussia” หรือกษัตริย์แห่งดินแดนปรัสเซียทั้งมวลได้สำเร็จในที่สุดครับ

และโดยใช้วิธีทางการทูตของพระองค์ ก็ทำให้ปรัสเซียยังเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตามยศเก่าแก่คือ "มาเกรฟแห่งบรานเดนเบิร์ก" ไปด้วย พระองค์จึงได้รับสมัญญานามว่า “เฟรเดอริคมหาราช” ในเวลาต่อมา

โอเคครับ และวันนี้เรื่องราวของดินแดนปรัสเซียในช่วงต้นของราชอาณาจักรปรัสเซียทั้ง 3 รัชกาลจบไปแล้วเด้อ เดี๋ยวครั้งหน้าถ้าผมว่างพอจะมาสาธยายเรื่องของอาณาจักรปรัสเซียช่วงปลายซึ่งหาฟังได้ยากให้ฟังกันครับ สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ ฝันดีทุกคนครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น