หลังจากที่พระเจ้าเฟรเดอริควิลเฮล์มที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี 1797 ทำให้ราชสมบัติตกเป็นของบุตรชายคนโตที่เกิดจากมหาเสีองค์ที่ 2 โดยได้เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3" นั่นเอง
**เนื่องจากผมเห็นว่าประวัติของกษัตริย์พระองค์ต่อไปและปรัสเซียในช่วงนี้นั้น แทบไม่มีแหล่งข้อมูลที่หาสืบค้นในแหล่งภาษาไทยได้ครอบคลุมและหาอ่านง่ายๆเลย แต่กลับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ปรัสเซียเลยก็ว่าได้ ดังนั้นตัวบทความนี้ผมเลยขอนำเสนอเป็นซีรีย์แบบหลายตอนจบเพื่อรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ**
หลังจากที่พระเจ้าเฟรเดอริควิลเฮล์มที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี 1797 ทำให้ราชสมบัติตกเป็นของบุตรชายคนโตที่เกิดจากมหาเสีองค์ที่ 2 โดยได้เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3" นั่นเอง________________________________________________________________________
1.อุปนิสัยและแนวความคิดของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3
 |
เจ้าชายเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 เมื่อยังเป้นมกุฎราชกุมาร |
หากพูดถึงภูมิหลังของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์แทบไม่เคยใช้ชีวิตในเมืองหลวงหรือในพระราชวังที่เมือง Berlin มากนัก นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มานั้น ได้ไปอาศัยอยู่ในเขต Paretz ชานกรุงเบอร์ลินมาโดยตลอด จนกระทั่งขึ้นครองราชย์สมบัติในปี 1797 โน่นเลยล่ะครับถึงได้กลับเข้ามาเมืองหลวงอีกครั้ง(แต่สุดท้ายก็ออกไปอีกรอบแหละนะ ฮา) โดยก่อนหน้าได้อาศัยอยู่กับภายใต้การอบรมของขุนนางอาวุโสที่ชื่อว่าเคาต์ ฮานส์ ฟอน บลูเมนโทล (Count Hans von Blumenthal) และถูกเลี้ยงดูมาพร้อมๆกับลูกชายของเขาตั้งแต่ยังเล็กๆ ทำให้ได้ออกท่องเที่ยวตามหัวเมืองต่างๆกับครอบครัวนี้โดยตลอด นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของพระอุปนิสัยที่ทำให้พระองค์ชื่นชอบการเสด็จประพาสไปทั่วราชอาณาจักรในเวลาต่อมา ก็เนื่องมาจากการเคยถูกเลี้ยงดูมาจากตระกูลขุนนางตระกูลนี้นั่นเอง
ในสมัยพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นมีการบันทึกไว้ว่าพระองค์เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมมากเท่าไรนัก พูดน้อยกว่าคนทั่วไปจนบางครั้งก็ดูเหมือนว่าเป็นคนซึมเศร้าไปเลย แต่ทว่าเมื่อพระองค์เริ่มเจริญวัยขึ้นสิ่งที่พระองค์ได้แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดถึงการมีภาวะผู้นำ ก็คือ การที่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญต่อเหล่าประชาชนในประเทศของพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ดังความตอนหนึ่งที่พระองค์ได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเหล่าขุนนาง ความว่า "เหล่าขุนนางทุกๆคนมี 2 สิ่งที่จำต้องคอยรักษาไว้เสมอ ประการหนึ่งคือการดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของชาติและประการที่สองก็คือเหล่าประชาชนทุกๆคน ในบางครั้งทั้งสองสิ่งนี้อาจไม่สามารถจะรักษาไว้ร่วมกันได้ หากถึงเวลานั้น...ประชาชนทุกคนย่อมต้องสำคัญกว่าเสมอ" ซึ่งแสดงทัศนคติของพระองค์ที่เล็งเห็นความสำคัญของเหล่าพลเมืองได้อย่างชัดเจนยิ่ง
** แต่ทว่า อีกความหมายหนึ่งในวาทกรรมประโยคนี้ของพระองค์นั้น กลับสามารถสะท้อนมุมมองอีกมุมว่า พระองค์นั้นมองตนเองเป็น "อำนาจอธิปไตยของชาติ" เสียเองอีกด้วย พระองค์เชื่อว่าการดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และพระองค์ก็จะทรงทำนุบำรุงพวกเขาด้วยตนเองในทุกๆเรื่อง แต่ทว่าพระองค์กลับไม่ได้มองเห็นความสำคัญที่จะให้ประชาชนทำนุบำรุงหรือดูแลปกครองตัวเองเลย ตรงนี้ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้พระองค์ไม่ได้มอบรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั้งๆที่ได้ให้สัญญาไว้ขณะปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญในอนาคตนั่นเองครับ **
โดยนอกจากนี้พระองค์ก็เป็นหนึ่งในกษัตริย์ปรัสเซียอีกพระองค์ที่พยายามหลีกเลี่ยงการสงครามอีกด้วย ดังคำกล่าวของพระองค์อีกตอนหนึ่ง ความว่า "ข้าพเจ้าเกลียดชังการสงคราม...เพราะข้าพเจ้าทราบว่าในโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดประเสริฐยิ่งกว่าการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ อันเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดต่อความเป็นสุขของมนุษยชาติทั้งมวล" จากข้อความนี้เราจึงพอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดพระองค์จึงเลือกที่จะไม่เข้าร่วมสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 2 และ 3 จนปล่อยให้ออสเตรียอันเป็นเสมือนกันชนระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้ลง และเพิ่มอำนาจแก่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามที่สุดของทุกๆประเทศในตอนนั้นไปอย่างน่าใจหาย___________________________________________________________________________
2.ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก่อนเข้ายุคสงคราม
จากสถานการณ์ช่วงที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ทั่วทั้งยุโรปกำลังตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด ผลกระทบจากสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งแรกยังไม่หมดไป เพราะถึงแม้สนธิสัญญาแคมโป-ฟอร์มิโอ (Treaty of Campo-Formio) จะสามารถสร้างสันติภาพระหว่างออสเตรียและฝรั่งเศสอันเป็นคู่สงครามหลักได้ระยะหนึ่ง แต่อำนาจของฝรั่งเศสที่แผ่มาถึงชายขอบของเยอรมนีฝั่งตะวันตกและเบลเยียมทั้งหมดก็เริ่มทำให้สภาพการณ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ และสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงโดยง่าย
พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 เมื่อจำต้องขึ้นครองราชย์ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นนั้น ก็ทรงให้มีการดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพภายในประเทศโดยเร็วที่สุด พระองค์ได้ตัดทอนงบประมาณจำนวนมากที่ใช้เพื่อความหรูหราและการดนตรีในสมัยพระราชบิดาโดยทันที ประกอบกับการปลดเหล่าข้าราชบริพารที่มีอยู่จนเกือบเต็มวังออกเพื่อตัดรายจ่ายของประเทศลง ทำให้ปรัสเซียสามารถประคับประคองเศรษฐกิจที่กำลังจะพังลงเนื่องจากความหรูหราฟู่ฟ่าของราชสำนักในรัชสมัยก่อนหน้าไปได้
ในส่วนของดินแดนในโปแลนด์ดั้งเดิมคือเขตปรัสเซียใต้และเขต New east Prussia พระองค์กลับดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด โดยได้ใช้นโยบายที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยพระปิตุลาของพระองค์นั่นก็คือพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชนั่นเอง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยนั้น พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชก็ไม่ทรงโปรดชาวโปแลนด์และความเป็นโปแลนด์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และชาวปรัสเซียส่วนใหญ่เองก็มองว่าชาวโปแลนด์เป็นแค่ "พวกสลาฟล้าหลัง" เท่านั้น นี่เองทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปรัสเซียได้มีนโยบายอพยพชาวปรัสเซียเข้าไปในดินแดนที่ถูกยึดมาได้ เพื่อพยายามเปลี่ยนชาวโปแลนด์ให้กลายเป็นชาวปรัสเซีย และได้กระทำการที่ชาวโปแลนด์ต่างรู้สึกว่าดูถูกเหยียดหยามชาวโปแลนด์อย่างยิ่ง โดยบังคับใช้ภาษาเยอรมันแทนภาษาดั้งเดิม ชาวโปแลนด์ซึ่งมีความเป็น "ชาตินิยม" สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเจอกับแรงกดดันมากขนาดนี้ก็เริ่มหันไปหาฝรั่งเศสซึ่งเป็น "สาธารณรัฐของประชาชน" ในท้ายที่สุด
ชาวโปแลนด์จำนวนมากต่างหวังว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่แล้ว จะมีการปรับเปลี่ยนที่ดีขึ้นกับความอยุติธรรมเหล่านี้ แต่ทว่าเมื่อพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 กลับดำเนินนโยบายต่อชาวโปแลนด์โดยยึดตามแบบที่แล้วมาจากพระปิตุลาและพระบิดาของพระองค์ต่อไป ก็ทำให้ชาวโปแลนด์รู้สึกผิดหวังเป็นอันมาก ส่งผลให้เหล่าปัญญาชนและทหารจำนวนมากมายเริ่มการอพยพครั้งใหญ่ไปยังฝรั่งเศส ที่ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นดินแดนที่เปิดกว้างที่สุดในสมัยนั้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1797-1803 ซึ่งก็จริงดังคาด ฝรั่งเศสให้การต้อนรับชาวโปแลนด์อย่างดี จนถึงกับในยุคสงครามนโปเลียนได้มีการตั้งกองทหารโปแลนด์ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นที่มาของกองทหาร "Poland Legion แห่งอิตาลี" นั่นเอง และนี่คือปัจจัยหลักที่จะทำให้ปรัสเซียต้องประสบความหายนะอย่างจริงๆจังๆเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา
 |
นายทหารโปแลนด์ในกองทัพนโปเลียน |
ในด้านการทหารนั้น กองทัพปรัสเซียขณะนั้นค่อนข้างล้าหลังมากกว่าประเทศในแถบยุโรปอื่นๆทั้งหมด การฝึกฝนทหารยังคงเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช แม้จะมีการรบกับเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียครั้งล่าสุดในปี 1795 ก็ไม่ได้ทำให้ปรัสเซียต้องพัฒนาการทหารมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะว่าโปแลนด์ในตอนนั้นนับได้ว่ามีกองทหารที่ล้าหลังที่สุดในบรรดามหาอำนาจยุโรปอยู่แล้ว ทำให้ปัจจัยที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดีในตอนนั้นจึงกำลังจะแว้งกลับมาทำร้ายปรัสเซียเองในที่สุด อันเนื่องมาจากตัวพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 เองก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะพัฒนาทหารเพื่อไปรบกับใครเขาแบบสมัยพระปิตุลา ทำให้สถานการณ์โดยทั่วไปของปรัสเซียตอนนี้นับว่าอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งเลยล่ะครับ
________________________________________________________________________
3. ช่วงก่อนเข้าสู่สงครามนโปเลียน
ในช่วงแรกพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 ทรงพยายามหลีกเลี่ยงการสงครามแทบทุกประเภท ดังนั้นพระองค์ทรงใช้เวลาแทบทั้งหมดในการเสด็จประพาสมณฑลตะวันออกของประเทศเพื่อสรา้งความมั่นคงในการปกครองร่วมกับพระราชินีของพระองค์คือดัชเชสหลุยส์ แห่งเมคเคลนเบิร์ก-สเตรลิทซ์ (Duchess Louise of Mecklenburg-Strelitz) พระองค์นับเป็นกษัตริย์ปรัสเซียพระองค์แรกที่ได้พยายามให้พระราชินีมีบทบาทต่อหน้าสาธารณชน โดยตลอดระยะการเดินทางนั้นก็ได้มีการจัดงานเทศกาลรื่นเริงร่วมกับเหล่าพสกนิกรโดยตลอด และเนื่องจากพระราชินีของพระองค์ทรงมีจริยวัตรที่งดงาม เป็นที่ชื่นชมของประชาชนที่ได้พบเห็นโดยทั่วไป ก็ทำให้ฐานะของราชาและราชินีคู่นี้มั่นคงและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
 |
พระราชินีหลุยส์ แห่งเมคเคลนเบิร์ก |
.
แต่ในระหว่างนั้นเอง ความขัดแย้งในสวิตเซอร์แลนด์และการบุกโจมตีฐานที่มั่นของอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ของฝรั่งเศสก็ได้จุดประกายสงครามขึ้นมาใหม่ในปี 1798 หรือที่เรียกกันว่าสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 2 ในช่วงแรกทัพพันธมิตรนับว่าได้เปรียบสาธารณรัฐฝรั่งเศสอยู่มาก แต่ทว่าหลังจากการก้าวขึ้นมีอำนาจของนโปเลียนในปี 1799 ก็ทำให้ฝรั่งเศสกลับมาสามารถเอาชนะทัพของพันธมิตรได้อีกครั้งหนึ่ง และด้วยสนธิสัญญาอาเมียงส์ (Treaties of Amiens) กับอังกฤษ และสนธิสัญญาลูว์เนวีลกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Treaty of Luneviles) ก็ทำให้ทั่วทั้งยุโรปสงบลงได้ในระยะสั้นๆ โดยในตลอดสงครามนี้ ปรัสเซียดำเนินนโยบายเป็นกลางตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 ซึ่งไม่ต้องการให้ปรัสเซียต้องการเข้าร่วมสงครามที่นองเลือด จึงพยายามไม่ฝักฝ่ายกับฝ่ายใดๆเป็นพิเศษ ตามพระราชปณิธานของพระองค์ที่ต้องการสร้างสันติภาพในประเทศนั่นเอง
และก็เป็นเช่นเดียวกับเมื่อนโปเลียนได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิได้สำเร็จ แล้วอ้างสิทธิ์เหนืออืตาลีจนเป็นชนวนให้เกิดสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 3 ในปี 1803 ถึง 1806 ถึงแม้ว่าคราวนี้พระเจ้าเฟรเดอริคของเราจะเริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายที่เริ่มคืบคลานเข้าใกล้อาณาจักรของพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงกังวลถึงผลเสียที่อาจตามมามากเกินไปและไม่กล้าตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ก็ทำให้ปรัสเซียยังคงเพิกเฉยต่อสงคราม จนกระทั่งทัพของสองมหาอำนาจแห่งยุโรปอย่างออสเตรียและรัสเซียต้องพ่ายแพ้แก่นโปเลียนในยุทธการออสแตรลิทซ์และสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ไปด้วยอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่สูงเด่นยิ่งขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะการตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of Rhine) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนครรัฐเยอรมันจำนวนมากถึง 16 รัฐโดยอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส จนทำให้ชาวปรัสเซียต่างเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามที่ก่อตัวขึ้นถึงข้างบ้านครั้งนี้อย่างจริงจัง
เมื่อมาถึงตอนนี้ ก็มีขุนนางคนสำคัญอย่างบารอน ฟอน สเตน (Baron von Stein) ถึงกับเขียนแผนปฏิรูปด้านการเมืองการปกครองเพื่อให้การดำเนินนโยบายของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญก็คือเพื่อให้ไม่ดำเนินนโยบายเพียงแค่ "เป็นกลางไปเรื่อยๆ" ตามความคิดของกษัตริย์เพียงคนเดียวแบบปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดผลเสียต่ออาณาจักรได้ แต่ทว่าเนื่องจากแผนการฉบับนั้นค่อนข้างจะมีการใช้ภาษารุนแรงและพูดตรงเกินไปบ้าง ก็ทำให้เมื่อไปถึงพระหัตถ์ของราชินีหลุยส์ แล้ว พระนางจึงได้ระงับความเอาไว้ก่อนไม่ให้ไปถึงมีของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 ได้
.jpg) |
Baron von Stein |
.
แต่ถึงกระนั้นราชินีหลุยส์เองก็เห็นด้วยกับแนวทางของสเตน ประกอบกับเหล่าขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายก็ไม่มีใครปลื้มกับการวางเฉยต่อกระแสโลกของพระเจ้าเฟรเดอริคเลย ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในหมู่ทหารและข้าราชการโดยมีพระราชินีของพระองค์เองเป็นหัวหน้า พยายามเคลื่อนไหวให้ปรัสเซียเข้าสู่สงครามเพื่อต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสซึ่งกำลังขยายตัวออก ทำให้ในที่สุดพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 3 ก็จำต้องประกาศศึกใส่ฝรั่งเศสในปี 1806 ซึ่งการเข้าสู้รบกับฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ "สงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 4" นั่นเองครับ_______________________________________________________________________
สำหรับวันนี้ก็ขอจบไว้แค่เท่านี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวตอนต่อไปผมจะมานำเสนอเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องความขัดแย้งของอังกฤษ-ปรัสเซียในช่วงนั้นให้ฟังกันครับ สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ ^o^
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบมีความรู้มากๆค่ะ มาต่อให้จบด้วยนะคะ เรากำลังคลั่งไคล้ประวัติศาสตร์ปรัสเซียเป็นอย่างมากเลยค่ะตอนนี้ สู้ๆนะคะ
ตอบลบ