วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ปรัสเซีย ตอนที่ 4 ความเสื่อมถอยจากภายใน

หลังจากพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 หรือเฟรเดอริคมหาราชได้ขึ้นเป็น "กษัตริย์แห่งปรัสเซีย" ในปี 1776 นั่นเท่ากับเป็นการประกาศเป็นนัยๆแล้วว่าในตอนนี้อาณาจักรของพระองค์ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นอาณาจักรชั้นแนวหน้าอย่างเต็มตัว ฐานะของอาณาจักรปรัสเซียในขณะนั้นจึงเทียบเท่ากับราชอาณาจักรอื่นๆในยุโรปทั้งหมด โดยแทบจะเป็นการตัดความช่วยเหลือจากจักรวรรดิออสเตรียซึ่งเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่่อย่างเด็ดขาด ประมาณว่าต่อแต่นี้ไปปรัสเซียเข้มแข็งพอที่จะยืนด้วยตนเองได้แล้วนะ จักรพรรดิไม่ต้องยุ่งก็ได้ (ก็แน่ล่ะ เล่นถล่มจักรพรรดิซะแทบไม่มีชิ้นดีเลยนี่นะ ฮ่า)

พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 สิ้นพระชนม์ลงในปี 1786 สิริพระชนมายุได้ 74 ปี และเนื่องจากพระองค์ไม่ทรงมีรัชทายาทโดยตรง จึงทำให้ราชสมบัติตกเป็นของหลานชายของพระองค์คือ "เฟรเดอริค วิลเฮล์ม" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2" ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงกษัตริย์องค์นี้เท่าไรนักแต่ทว่าบทบาทของพระองค์ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินแห่งนี้เช่นกันครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องสำคัญๆในรัชกาลนี้ให้ฟังกันครับ


_______________________________________________________________________________





4. พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 (1786-1797) พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของเจ้าชายออกัสตัส แห่งปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชนั่นเองครับ เมื่อราชบัลลังค์ว่างไป เขาจึงเป็นอันดับ 1 ในสายการสืบสันตติวงศ์ไป 

หลายๆคนอาจจะลืมชื่อของกษัตริย์องค์นี้ไปเลย เนื่องจากระยะเวลาครองราชย์ที่สั้นเพียง 11 ปีของพระองค์ แต่ทว่าเรื่องราวตลอด 11 ปีนั้นก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จะเปลี่ยนความเป็นไปของประเทศนี้ไปเลยล่ะครับ

พระองค์นับว่าเป็นกษัตริย์ในวงศ์โฮเฮนเซิลเลินที่มีลักษณะแตกต่างจากพระองค์อื่นอย่างสิ้นเชิง โดยในสมัยก่อนหน้านั้นกษัตริย์ทุกๆพระองค์ตั้งแต่ The great elector แห่งบรานเดนเบิร์กเป็นต้นมาก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการทหารอย่างมากทั้งนั้น จนถึงมีคำกล่าวกันในปลายรัชสมัยพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชว่า "ปรัสเซียนั้นไม่ใช่ประเทศที่มาพร้อมกับกองทหาร แต่เป็นกองทหารที่มาพร้อมกับประเทศต่างหากล่ะ" ตรรกะโหดจริงนะครับ ฮา

และแน่นอนประโยคดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า การจะเจริญขึ้นของอาณาจักรปรัสเซียนั้น ก็ล้วนต้องพึ่งอยู่กับการบริหารจัดการกำลังพลให้ดีอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่าพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 กลับจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงครับ

นั่นก็เพราะว่าเขากลับเป็นผู้ชื่นชมในศิลปะโดยเฉพาะเรื่อง "ดนตรี" อย่างยิ่ง -*-พระองค์ทรงโปรดปรานในความสามารถของโมสาร์ทและบีโทเฟนจนถึงกับนำเงินในท้องพระคลังหลวงมาใช้ในการจัดตั้งวงดนตรีของประเทศเอง ซึ่งแน่นอนว่าได้รับความนิยมไม่แพ้ประเทศอื่นๆเช่นกัน เพราะพระองค์เองนั้นก็ยังเป็นนักเชลโลที่มีฝีมือหาตัวจับยากคนหนึ่งในยุคนั้นอีกด้วย จึงนับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ช่วยทำนุบำรุงดนตรีในยุคคลาสสิกที่สำคัญที่สุดอีกพระองค์หนึ่งเลยล่ะครับ

นอกจากนี้พระองค์ยังเปิดให้นักการศึกษาจากรัฐเยอรมันต่างๆให้เข้ามาทำงานอย่างอิสระในปรัสเซียอีกครั้ง หลังจากที่ในสมัยของเฟรเดอริคมหาราชได้มีการแบนภาษาเยอรมันไม่ให้ใช้เป็นภาษาในการศึกษา อันเนื่องจากความที่พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชหรือท่านลุงของพระองค์เองนั้นไม่ทรงโปรดภาษาแม่ของตนเอง เนื่องจากเห็นว่ามีความซับซ้อนมากเกินไป ทำให้ในสมัยของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้โปรดให้นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ทำให้การศึกษาในสมัยของพระองค์เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก(ในสมัยก่อนหน้านั้นถึงแม้ว่าพระเจ้าเฟรเดอริคจะให้ความสำคัญกับการสึกษาเหมือนกัน แต่ว่าการสนับสนุนไม่ได้เต็มที่เท่าไรนัก) ผู้มีวิชาความรู้จากดินแดนเยอรมันต่างหลั่งไหลเข้ามาในปรัสเซีย และพระองค์ก็ยังโปรดให้ลดภาษีนำเข้าที่เข้มข้นมาตั้งแต่สมัยก่อนลง ควบคู่กับการขยายถนนหนทางและเชื่อมคูคลองต่างๆเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าและความเจริญของปรัสเซียสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และพระองค์ก็ได้รับการชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก

แต่ถึงแม้ว่าด้านดนตรีศิลปะและภาคประชาชนจะก้าวหน้ามากแค่ไหนก็ตาม แต่ด้วยความอินดี้แหวกแนวของพระองค์ที่ค่อนข้างละเว้นการทหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักในความเจริญของอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น ก็ทำให้ปรัสเซียต้องประสบปัญหาอยู่เนืองๆ โดยในด้านการทหารนั้น พระองค์ได้ทรงเข้าร่วมรณรงค์ในการทหารที่ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าใดๆเลยถึง 2 ครั้ง อันได้แก่

1. สงครามกบฎบาตาเวียนในฮอลแลนด์ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังจากการรบกับอังกฤษจนเกิดกบฎขึ้นตั้งแต่ปี 1785 และลุกลามใหญ่โตมากขึ้นจนกินแถบตะวันตกของเนเธอร์แลนด์แทบทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหญิงวิลเฮลมินาซึ่งเป็นซึ่งเป็นน้องสาวของพระองค์ได้ไปแต่งงานกับวิลเลียมที่ 5 ซึ่งเป็นอุปราชของเนเธอร์แลนด์คนปัจจุบัน ทำให้ปรัสเซียส่งทัพซึ่งนำโดยชาร์ล วิลเลี่ยม เฟอร์ดินันด์ ดยุคแห่งบรันช์วิกซ์ซึ่งเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับอันดับต้นๆในยุคนั้นให้ไปช่วยปราบกบฎ และเขาก็ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม โดยแต่ละศึกแทบไม่เสียเลือดเนื้อใดๆเลยอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นศึกครั้งนี้ก็ไม่ได้ให้อะไรที่คุ้มค่าต่อปรัสเซียแม้แต่นิดเดียว สรุปพระองค์ก็แค่เป็นคนดีไปช่วยน้องสาวของตัวเองเฉยๆ -*-



เจ้าหญิงวิลเฮลมินาแห่งฮอลแลนด์ พระขนิษฐาของพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากทัพของปรัสเซียได้กลับไปแล้ว ในอีก 2 ปีต่อมา คือในปี 1789 กระแสปฏิวัติก็กลับมาอีกครั้ง และคราวนี้ฝรั่งเศสซึ่งเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐแล้วก็ได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มกบฎบาตาเวียนและโจมตีเนเธอร์แลนด์แบบไม่ทันตั้งตัวในฤดูหนาวปี 1795 โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มกบฎเช่นกัน ทำให้สุดท้ายอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ก็เปลี่ยนเป็น "สาธารณรัฐปัตตาเวีย" โดยอยู่ใต้ร่มธงของฝรั่งเศสไปในที่สุด




2. เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน เนื่องจากพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 ทรงมีแนวความคิดที่แตกต่างจากสมเด็จลุงของพระองค์คือ "พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช" ในเรื่องออสเตรียอย่างสิ้นเชิง พระองค์ต้องการจะเป็นมิตรกับจักรวรรดิออสเตรียเช่นเดิมแทนที่จะดำเนินนโยบายต่อต้านตามที่ผ่านๆมา พระองค์จึงได้เข้าร่วมกับออสเตรียและรัสเซียในการดำเนินการเพื่อต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอาณาจักรปรัสเซียเลยแท้ๆ แน่นอนว่าคราวนี้ปรัสเซียก็ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ(อีกแล้วสินะ -*-) และเมื่อพระองค์ทรงปลดนักการเมืองคนสำคัญอย่าง Ewald Friedrich Graf von Hertzberg ที่ต้องการสานต่อนโยบายต่อต้านออสเตรียในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชออกจากตำแหน่งในปี 1791 ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มเลิกแนวทางการบริหารประเทศในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชโดยสิ้นเชิง และแนวทางนี้จะไปเปลี่ยนกลับเหมือนเดิมก็สมัยพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 โน่นเลยแหละครับ

แต่ถึงแม้พระองค์จะเข้าร่วมศึกที่ค่อนไปทางไร้ค่ามาถึง 2 ครั้งก็จริง แต่ด้วยรากฐานด้านการทหารที่รัชกาลก่อนๆได้วางเอาไว้ ก็ทำให้ปรัสเซียในรัชสมัยของพระองค์มีกองทหารประจำการเกือบ 240000 นาย นับเป็นจำนวนกองทหารที่่เยอะมาก แต่ด้วยความที่พระองค์นำเงินไปทุ่มเทกับการดนตรีและการศึกษาอย่างมากไปนั้นเอง ก็ทำให้สถานะการเงินของอาณาจักรแทบจะติดลบ แต่ก็ยังพอจะประคองตัวไปได้เรื่อยๆได้ตลอดรัชสมัยอันสั้นเพียง 11 ปีของพระองค์

นอกจากนี้พระองค์ก็ยังมีวีรกรรมสำคัญในสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 1 ในการต่อต้านฝรั่งเศสอีกด้วย วีรกรรมนั้นคืออะไรลองมาดูกันเลยจ้า

อย่างที่พวกเราต่างรู้กันว่าในปี 1789 ประชาชนในประเทศฝรั่งเศสสามารถล้มอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ลงได้ และในที่สุดก็สามารถตั้งรัฐบาลที่ปกครองโดยประชาชนขึ้นได้สำเร็จถึงแม้ว่าจะยังไม่เข้าร่องเข้ารอยอย่างที่ควรเท่าไรนัก แต่ก็ทำให้ประเทศในยุโรปอื่นๆเข้าร่วมกันเป็นพันธมิตรเพื่อป้องกันกระแสการปฏิวัติที่อาจจะลุกลามมายังประเทศตัวเอง ซึ่งแน่นอนนั่นรวมถึงปรัสเซียด้วยนั่นแหละครับ

โดยเหตุการณ์นี้ต้องสืบเนื่องย้อนไปถึงปี 1790 เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 ทรงตกลงที่จะเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าสตานิสลาฟ ออกัส โพเนียทอฟสกี กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งโปแลนด์-ลิธัวเนีย ในกติสัญญาโปลิช-ปรัสเซีย (Polish-Prussian pact) และก็เป็นพันธมิตรไปตามนั้นเรื่อยๆจนมาถึงปี 1792 เมื่อปรัสเซียได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับออสเตรียในการช่วยรบกับฝรั่งเศสในสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่ 1(War of the first Coalition) และปรัสเซียได้ได้ส่งทหารไปช่วยรบในสงครามครั้งนี้ภายใต้การนำของชาร์ล วิลเลี่ยม เฟอร์ดินันด์ ดยุคแห่งบรันช์วิกซ์ เจ้าเก่านั่นแหละครับ โดยเขาสามารถตีทะลวงลึกเข้าไปในชายแดนฝรั่งเศสได้สำเร็จพร้อมกับกองทหารพันธมิตรคือออสเตรียซึ่งก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จเช่นกัน ทำให้ช่วงแรกดูเหมือนว่าฝายพันธมิตรคงจะมีโอกาสชนะศึกครั้งนี้อย่างแน่นอน

และในปีเดียวกันซารีนาแคเธอรีนมหาราชแห่งรัสเซียก็ได้ประกาศศึกใส่เครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียอีกครั้ง ปรัสเซียเลือกที่จะเพิกเฉยต่อกติสัญญาที่เคยทำไว้ โดยได้แลกเปลี่ยนกับการที่รัสเซียจะให้ส่วนแบ่งดินแดนต่อปรัสเซียซึ่งปรากฎว่าซารีนาแคเธอรีนมหาราชแห่งรัสเซียก็ยินยอม ทำให้เมื่อถึงปี 1793 การแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลงและปรัสเซียได้รับดินแดน South Prussia หรือดินแดน Greater Poland มาไว้ในครอบครองโดยไม่เสียเลือดเนื้อแต่อย่างไร ทำให้ปรัสเซียได้ดินแดนมาฟรีๆในขณะที่กำลังรบกับฝรั่งเศสอยู่นั่นเอง ถือว่าพระองค์ดำเนินแผนการนี้ได้แยบยลอย่างยิ่ง และโปแลนด์ซึ่งอ่อนแอลงจนทำอะไรไม่ได้ก็ถูกบีบบังคับให้ไม่สามารถดำเนินมาตรการใดโต้ตอบได้เลยล่ะครับ



ดินแดนที่ถูกแบ่งแยกในการแบ่งแยกโปแลนด์รั้งที่ 2

กองทัพพันธมิตรปรัสเซียและออสเตรียยังคงรบกับฝรั่งเศสมาเรื่อยๆโดยสถานการณ์ค่อนข้างเป็นไปอย่างตึงเครียด ทัพของปรัสเซียเริ่มไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรหลังจากยุทธการที่วอล์มี (battle of Valmy) ซึ่งกองทัพปรัสเซียได้ถอยออกจากสนามรบอย่างเป็นปริศนาและยังไม่ได้คำตอบที่กระจ่างชัดจนทุกวันนี้

ปล. ใครสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในสมรภูมิแนะนำว่าลองไปอ่านในวิกิดูครับ ถ้าพูดในนี้รับรองยาวแหงๆ

และเมื่อมาถึงในปี 1795 เมื่อปรัสเซียยังติดพันกับสงครามที่ฝรั่งเศสอยู่ ปรากฎว่ารัสเซียก็ประกาศศึกต่อเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียอีกครั้งโดยไม่ได้ตั้งตัว และแน่นอนนั่นหมายถึงการชวนให้ทั้งออสเตรียและปรัสเซียเข้าร่วมเช่นในครั้งก่อนๆ

ในคราวนี้พระเจ้าเฟรเดอริคของเราก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อรองให้ได้กินเปล่าดินแดนกับรัสเซียแบบครั้งที่แล้วอีก ทำให้พระองค์ทรงต้องตัดสินพระทัยให้เด็ดขาดว่าจะทำเช่นไร เพราะว่าอย่างไรเสีย ศึกในการต่อต้านฝรั่งเศสก็ไม่อาจจะให้ดินแดนใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อปรัสเซียได้เลย แตกต่างกับศึกในโปแลนด์ซึ่งเป็นเสมือนหมูตัวใหญ่ที่รอให้ตัดแบ่งอยู่แล้ว ซึ่งถ้าพระองค์ประสงค์จะเอาดินแดนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในโปแลนด์นั้น ก็จำเป็นต้องทุ่มเทกำลังทหารไปด้านนั้น ไม่อาจปล่อยให้คาราคาซังรบ 2 ด้านได้เพราะไม่งั้นแนวด้านฝรั่งเศสคงยับแน่ๆ ทำให้ในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจสงบศึกกับฝรั่งเศสซะเฉยๆอย่างนั้นแหละครับ โดยได้ทำสัญญากันที่เมืองบาเซิลใน
สวิสเซอร์แลนด์ โดยพระองค์เลือกที่จะยอมเสียอิทธิพลต่อกลุ่มรัฐเยอรมันในเขตรุ่มแม่น้ำไรน์ให้ฝรั่งเศสโดยเรียกสนธิสัญญานี้ว่า Treaty of Basel เพื่อแลกกับการไปร่วมรบศึกแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 3 แทน

การตัดสินใจของพระองค์ทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆในยุโรปต่างมองภาพปรัสเซียเป็นผู้ทรยศกันหมด แม้แต่ฝรั่งเศสเองก็ไม่สามารถมั่นใจในท่าทีของปรัสเซียได้ พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 ถูกมองว่าเป็นคนที่ลังเลและไม่แน่นอนว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดกันแน่ ยังโชคดีที่ว่าพระองค์ทรงรองราชย์อยู่อีกเพียงสองปีซึ่งตรงกับปีที่สงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งนี้จบลงพอดี ทำให้ภาพลักษณ์ของปรัสเซียดีขึ้นมาบ้างหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่ (ศึกนี้แม้ออสเตรียจะเข้าร่วมเช่นกันแต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งพันธมิตรเหมือนปรัสเซียน่ะครับ เลยทำให้ปรัสเซียโดนติดลบฝ่ายเดียว)

ในศึกแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 3 นั้นเป็นการแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งสุดท้าย ทั้งปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซียได้ร่วมกันเผด็จศึกเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนียซึ่งดำรงความเป็นมหาอำนาจมากว่า 226 ปีได้สำเร็จ และปรัสเซียก็ได้รับดินแดน New east Prussia มาไว้ในครอบครองจากศึกครั้งนี้นี่เอง ซึ่งผลของการได้ดินแดนนี้มานั้น เท่ากับว่าในตอนนี้ปรัสเซียสามารถครอบครองดินแดนของประเทศโปแลนด์ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดได้สำเร็จในปี 1795 โดยสามารถเชื่อมดินแดนทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยมีแผ่นดินกว้างใหญ่ที่อยู่ใต้ปกครอง นับเป็นการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในด้านอาณาเขตและอำนาจการปกครองของปรัสเซีย ก่อนที่บิสมาร์คจะมีอำนาจเลยก็ว่าได้



ดินแดนทั้งหมดในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2


กล่าวโดยสรุปพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2 นั้น ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อาณาจักรปรัสเซียได้สำเร็จ สามารถควบรวมดินแดนจำนวนมากโดยแทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อและไม่ได้เข้าร่วมรบในศึกนองเลือดมากเท่ารัชสมัยก่อนๆมา รวมถึงสร้างความเจริญในทางศิลปะและการศึกษาและภาคประชาชนได้มากกว่าที่รัชกาลก่อนๆได้ทำมารวมกันเสียอีก แต่ทว่าภายใต้ฉากเบื้องหน้าที่ดูราวกับแข็งแกร่งนั้น การภายในกลับทิ้งปัญหาให้พระราชโอรสของพระองค์ต้องมาแก้ไขอย่างมากมาย ไม่ว่าจะสถานะการเงินที่ส่ออาการร่อแร่อันเนื่องมาจากการนิยมความหรูหราในศิลปะของพระองค์ หรือการยึดดินแดนจำนวนมากในโปแลนด์โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในชาติพันธุ์ของประชาชนในท้องที่นั้น และที่สำคัญที่สุดก็คือการละเลยต่อการทหาร ที่พระองค์ทรงใช้ทัพไปรบแต่กลับไม่ได้คิดพัฒนาหรือปรับปรุงให้ทันสมัยหรือดีกว่าประเทศอื่นๆดังที่กษัตริย์องค์ก่อนๆได้ทำมา

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะทำให้รัชทายาทของพระองค์ต้องตามแก้ไขเพื่อความอยู่รอดภายในเวทีแห่งการแย่งชิงอำนาจแห่งยุคใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามา นั่นก็คือ "ยุคสงครามนโปเลียน" นั่นเองครับ

สำหรับวันนี้ก็จบไปแล้วครับ สำหรับเรื่องราวของกษัตริย์แห่งปรัสเซียองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งนั่นคือ "พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮล์มที่ 2" แล้วไว้ครั้งหน้าผมจะมาพูดถึง "ปรัสเซียในยุคสงครามนโปเลียน" ให้ฟังกันครับ แล้วเจอกันใหม่ สำหรับวันนี้ก็ราตรีสวัสดิ์ครับ /(^o^)\ // จบซักทีสินะ -*-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น